นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยผู้บริหาร ก.ล.ต. ร่วมประชุมหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ACMF) ระดับเลขาธิการ ครั้งที่ 36 ซึ่งมีหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ โดยในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมแสดงความยินดีต่อความสำเร็จในการจัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน (ASEAN Taxonomy) ฉบับที่ 1 โดยคณะทำงาน ASEAN Taxonomy Board ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานภาคการเงินต่าง ๆ รวมถึงผู้แทนจาก ACMF ด้วย และได้เผยแพร่ ASEAN Taxonomy ฉบับดังกล่าว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา และจะรวบรวมความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนอาเซียนมาใช้เป็นข้อมูลและแนวทางประกอบการพัฒนา ASEAN Taxonomy ในระยะต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบต่อแนวทางการดำเนินงานสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน ผ่านการจัดทำมาตรฐานตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืนอาเซียน (ASEAN sustainability-linked bond) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 และการพัฒนาแนวทางการจัดทำมาตรฐานกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (ASEAN sustainable and responsible fund standard : SRFS) ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างคณะทำงาน ASEAN Collective Investment Schemes ที่มี ก.ล.ต ไทยเป็นประธาน และคณะทำงาน Sustainable Finance Working Group โดยคาดว่ามาตรฐาน SRFS จะแล้วเสร็จภายในปี 2565 เช่นกัน
ในด้านการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลของตลาดทุนอาเซียน ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าในการพัฒนา ACMF website เพิ่มเติม ได้แก่ การจัดทำศูนย์ความรู้ครบวงจรในเรื่องการเงินที่ยั่งยืน (knowledge hub) และการจัดทำแหล่งรวบรวม จัดเก็บ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Collective Investment Schemes) เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การเสนอขายกองทุนข้ามพรมแดน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความสำเร็จการจัดโครงการเพื่อส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรในหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน รวมทั้งรับทราบกำหนดการในการประกาศผล ASEAN Corporate Governance Awarding Ceremony ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2565 นี้ รวมทั้งแนวทางการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินในระยะต่อไป
การประชุมครั้งนี้ ก.ล.ต. ไทยได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองต่อประเด็นสำคัญและพัฒนาการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในอาเซียน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบและจะเริ่มดำเนินการในการประชุมครั้งต่อไป
อีกทั้ง สมาชิกยังได้แสดงความขอบคุณต่อ ADB ที่ได้ให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการร่วมดำเนินการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนอาเซียนเพื่อความยั่งยืน
ที่มา: ก.ล.ต.