"CRA Digital Health" เสวนาเปิดตัวหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

จันทร์ ๒๘ มีนาคม ๒๐๒๒ ๑๕:๐๒
สถานการณ์ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของผู้คนในทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็ว และมีการปรับตัวทางเทคโนโลยีในระบบบริการสุขภาพดิจิทัลที่เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ เพื่อรองรับการรักษาโรคด้วยแนวทางใหม่ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการเตรียมรับมือ ป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการทางการแพทย์และสุขภาพที่ทันสมัยอย่างทั่วถึง การเตรียมพร้อมในด้านการสร้างบุคลากรในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเชี่ยวชาญ เสริมทักษะความรู้ดิจิทัลเฉพาะเพิ่มเติมในการทำงานของโลกยุคปัจจุบัน จึงถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะก้าวสู่ความสำเร็จในระยะยาว
CRA Digital Health เสวนาเปิดตัวหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ที่จะนำวิทยาการขั้นสูงและนวัตกรรมไปใช้ในการดูแลคนไทยทุกคนให้สามารถเข้าถึงสุขภาวะที่ดี เพื่อความเป็นเลิศในทุกชีวิต ตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงได้จัดงานเสวนาแบบไฮบริด "CRA Digital Health" เปิดมุมมอง-สร้างทักษะดิจิทัลเทรนด์ทางการแพทย์และสาธารณสุขแห่งยุคศตวรรษที่ 21 พร้อมเปิดตัวหลักสูตร CRA Digital Health Program หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ณ สตูดิโอเนชั่น ทาวเวอร์ และออนไลน์ผ่านทางช่อง CRA Chulabhorn Channel โดยมี ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้มุมมองวิสัยทัศน์ภาพรวมดิจิทัลเทรนด์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศไทยในหัวข้อ Digital Health Transformation และการขับเคลื่อนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในการส่งเสริมการพัฒนา Digital Health Initiatives ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ พร้อมด้วย ศ.ดร.พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมเปิดมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อการแพทย์แห่งอนาคตของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่รองรับการสร้างทักษะและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีศักยภาพในการทำงานด้านสุขภาพดิจิทัล และเปิดตัวหลักสูตรน้องใหม่ CRA Digital Health Program โดยร่วมเสวนากับคณาจารย์จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เผยภาพรวมดิจิทัลเทรนด์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศไทยว่า "จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุขนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลากหลายรูปแบบ โดยภาพรวมของดิจิทัลเทรนด์ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกิดขึ้น อาทิเช่น การนำระบบจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data Analytics มาใช้ร่วมกับการเรียนรู้ของเครื่อง Machine Learning และ AI ปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการข้อมูลเชิงเวชสารสนเทศ มุ่งเน้นการสร้างบริการสาธารณสุขที่ทุกคนเข้าถึงได้ผ่านการใช้เทคโนโลยี เช่น การพัฒนาและต่อยอดระบบ Telemedicine ให้สอดคล้องกับกระบวนการรักษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การลงทุนในระบบ IT Infrastructure เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเร่งด่วนให้สามารถขยายบริการสาธารณสุขในแบบดิจิทัลได้อย่างคล่องตัว เทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT เพื่อเปิดช่องทางการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่นำไปสู่การรักษาในเชิงรุกจากทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งการพัฒนาระบบ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยในข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้รับบริการก็ได้รับความสำคัญสูงเช่นกัน การให้ความสำคัญกับสุขภาพดิจิทัล ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะด้านสุขภาพดิจิทัลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะส่งผลให้โรงพยาบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขไทยสามารถวางแผนโครงการ Digital Health Transformation ในระบบบริการสุขภาพที่ก้าวสู่ความสำเร็จในระยะยาว"

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ ยังได้กล่าวถึงเพิ่มเติมถึงการขับเคลื่อนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้เป็นองค์กรที่นำวิทยาการขั้นสูงและนวัตกรรมไปใช้ในการดูแลคนไทยทุกคนให้สามารถเข้าถึงสุขภาวะที่ดี เพื่อความเป็นเลิศในทุกชีวิต โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการนำวิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยีไปใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามพระปณิธานขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยมีกรอบยุทธศาสตร์ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2570 ที่จะปฏิรูปราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการสุขภาพสู่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ นำการบริหารจัดการไปสู่ Digital Ecosystem โดยเชื่อมต่อหลายระบบ หลายบริการเข้าด้วยกันเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้รับบริการในแต่ละกลุ่มและเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการที่สร้างเสริมสุขภาวะที่ดี ล่าสุดได้พัฒนาและจัดทำหลักสูตร "CRA Digital Heath" เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และวางรากฐานเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่จะช่วยพัฒนาบริการสุขภาพสู่คนไทยทุกคน

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวแนะนำหลักสูตรน้องใหม่ CRA Digital Health Program "หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบบริการสุขภาพในเร็ววัน ด้วยวิกฤตการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดิจิทัลให้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งการเกิดขึ้นของหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล จะทำให้เกิดการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านสุขภาพ ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยจะมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ นักวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ นักเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพ นักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ นวัตกรหรือนักวิจัยด้านสุขภาพดิจิทัล นักบริหารฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ออกสู่ตลาดแรงงานขั้นสูง ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ นอกจากความรู้ด้านวิชาการความเชี่ยวชาญเฉพาะของแต่ละสาขาอาชีพแล้ว บุคลากรทางการแพทย์จะต้องเป็นผู้ที่มีความทันต่อโลกของข้อมูล และคิดแบบดิจิทัล สามารถค้นหาข้อมูลได้ด้วยตนเอง และเชี่ยวชาญการรักษาควบคู่กับการทำวิจัยสร้างนวัตกรรม โดยในหลักสูตร CRA Digital Health Program ของเราได้มุ่งเน้นการติดอาวุธด้านสุขภาพดิจิทัลให้กับบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน อาทิเช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ ฯลฯ ให้มีศักยภาพในการทำงานด้านสุขภาพดิจิทัล เพื่อทำให้ระบบบริการสุขภาพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่เหมาะสม ทั่วถึง และยั่งยืนสำหรับทุกคน"

หลักสูตร CRA Digital Health Program มีอาจารย์ประจำหลักสูตรที่เปี่ยมไปด้วยคุณวุฒิ อาทิ อาจารย์ ดร.ชวิน จองวรรณศิริ (ประธานหลักสูตร) , อาจารย์ ดร.วเรศ จันทร์เจริญ (อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร) , อาจารย์ ดร.ปณิธิ อัจฉราฤทธิ์ (อาจารย์ผู้สอน) ทั้งสามท่านเผยว่า หลักสูตรสุขภาพดิจิทัลนี้ ผู้ที่ได้เรียนจะสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านข้อมูลสุขภาพ และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในระบบบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันเรื่องของ Digital Transformation ได้ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ถ้าเรามองทางด้านวงการสาธารณสุขบ้าง เทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่ทุกคนเคยได้ยินกัน เรื่องของการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data Analytics ที่นำมาใช้ร่วมกับเรื่องของ Machine Learning ทั้งหมดนี้จะเข้ามามีบทบาทต่อการทำงานด้านสุขภาพของประเทศไทยในอนาคต หลักสูตร Digital Health นี้ ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องของการสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ เพื่อนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ซึ่งเราสามารถนำไปใช้ต่อยอดงานวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรมบริการสุขภาพต่างๆ

นอกจากนี้ ผศ.นพ.ธีรภัทร อึ้งตระกูล รองคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน และแพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ร่วมเสวนาเกี่ยวการพัฒนาและต่อยอดระบบ Telemedicine สำหรับการติดตามสุขภาพผู้ป่วยมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทรนด์สุขภาพดิจิทัลที่ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างแพร่หลายในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และอาจารย์ นพ.ธนพล ชอบเป็นไทย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน และแพทย์เฉพาะทางออร์โธปิดิกส์ สาขามะเร็งกระดูกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้นำเสนอนวัตกรรม OSCEsim GAME ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเรียนการสอนในโลกเสมือนจริงของนักศึกษาแพทย์ ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคที่ต้องปรับระบบการเรียนการสอนมาเป็นในรูปแบบออนไลน์ของนักศึกษาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน เพื่อฝึกหัดให้นักศึกษาแพทย์ได้มีโอกาสได้เข้าทำหัตถการการตรวจรักษาคนไข้ต่างๆ เสมือจริงผ่าน นวัตกรรม OSCEsim GAME

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ปัจจุบันเปิดสอนหลากหลายหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ได้แก่ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ (พ.ศ.2563) โดยความร่วมมือกับ University College London (UCL) เรียน 7 ปี 2 ปริญญา หลักสูตรแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลตามเกณฑ์ WFME โดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ (สมพ.) และแพทยสภา หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาข้อมูลสุขภาพ (Health Data Science) หลักสูตรร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี , หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์ และในปีการศึกษา 2565 นอกจากหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัลแล้ว ยังเปิดหลักสูตรใหม่อีก 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์และวิศวกรรมการแพทย์เป็นหลักสูตรที่มีการบูรณาการระหว่างสาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์และวิศวกรรมการแพทย์ ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติ และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาตจวิทยา เพื่อสร้างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนังที่มีสมรรถนะดิจิทัล มีศักยภาพในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาช่วยวินิจฉัยและรักษาโรคผิวหนัง โดยมุ่งเน้นโรคผิวหนังที่เป็นปัญหาในประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต สมกับวิสัยทัศน์ของทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒนที่เป็น "ผู้ให้ ผู้พัฒนา ผู้รักษาแห่งอนาคต"

ติดตามรับชมงานเสวนา CRA Digital Health ได้ที่ช่อง Youtube CRA Chulabhorn Channel https://www.youtube.com/watch?v=_y2KW4VukGY&t=2702s

ที่มา: ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version