รศ.ดร.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความต้องการในการปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนการสอน ให้เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ โดยให้บัณฑิตมีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่สอดคล้องตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมและองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลได้มีโครงการพัฒนาหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบัณฑิต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว รวมถึงทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยซึ่งมียุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนทุกด้าน ซึ่ง 1 ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ Education Transformation ซึ่งได้กำหนดให้มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ปรับเปลี่ยนจาก teaching เป็น learning paradigm
รวมถึง การจัดการศึกษาการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นทักษะในวิชาชีพและในอนาคตที่สำคัญ มีการส่งเสริมทักษะไม่ว่าจะเป็นการ up-skill , re-skill หรือ new-skill แก่บุคคลทุกช่วงวัย ซึ่งวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ได้ร่วมจัดกิจกรรมในการจัดการเรียนการสอนในโครงการ Huawei ICT Academy โดยในระยะแรกวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ได้ส่งคณาจารย์เข้าร่วมอบรมและสอบใบประกาศนียบัตร Huawei HCIA ในหลายหลักสูตรเช่น Datacom, Routing & Switching, Wireless LAN, Security และ Cloud Service นอกจากนั้น นักศึกษาของวิทยาลัยยังได้เข้าร่วมกิจกรรม Seeds for the Future ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาสู่การเป็นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่มีการนำเสนอแนวคิด ในการนำเอาเทคโนโลยีด้าน Computing เพื่อแก้ปัญหาในด้านต่างๆของสังคม ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันระดับโลก Tech4Good ซึ่งในปี 2021 นักศึกษาวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็น 1 ในผู้ร่วมทีมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่น สามารถคว้ารางวัลที่ 1 ระดับ Gold award มาได้ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวทั้งการพัฒนานักศึกษา บุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยี และกิจกรรมอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ได้นำมาสู่การจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือโดยมี ระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี นับจากวันที่ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวิสัยทัศน์ มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก เป็นองค์กรทางด้านการศึกษา มีหน้าที่ในการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ เพื่อการพัฒนาประเทศ สำหรับความร่วมมือกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ในครั้งนี้ เพิ่อการจัดการศึกษาการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อมุ่งเน้นทักษะในวิชาชีพและทักษะในอนาคตที่สำคัญ ผ่านการ Upskill, Reskill หรือ New-skill แก่บุคคลทุกช่วงวัย โดยเฉพาะทักษะทางด้านดิจิทัล หรือ Computing ถือว่าเป็นแนวโน้มของโลก (Global Mega Trend) และสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่สำคัญมาก ซึ่งมหาวิทยาลัยของแก่นเอง ได้ตระหนักและเท่าทันกระแสคลื่นด้านเทคโนโลยีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ด้านปัญญาประดิษฐ์(AI), ด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและประมวลผล Cloud Computing, Blockchain, Defi, NFT, โลกเสมือน Metaverse นอกจากนั้น ยังมี การบูรณาการศาสตร์ Computing เพื่อประยุกต์ในการสร้างความเป็น Intelligence ให้กับศาสตร์อื่นๆ อาทิเช่น ด้านการแพทย์ การเกษตร สถาปัตยกรรม สังคม ศิลปะ และต่างๆได้อีกมาก และโอกาสของการเกิดทักษะอาชีพใหม่ ๆ ในอนาคต
ที่มา: มหาวิทยาลัยขอนแก่น