TNR รุกใหญ่อุตสาหกรรม "กัญชง กระท่อม กัญชา" เต็มตัว ตั้งเป้าปี 67 ทำรายได้แตะ 1,000 ล้านบาท ลุยธุรกิจครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ หวังเป็น NEW S-Curve ดันการเติบโต

พุธ ๓๐ มีนาคม ๒๐๒๒ ๑๓:๔๕
บมจ.ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ หรือ TNR ประกาศรุกใหญ่สู่อุตสาหกรรม "กัญชง กระท่อม กัญชา" ครอบคลุมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ หวังปั้นเป็น New S-Curve หนุนการเติบโต เดินหน้าร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชง เร่งสร้างโรงงานสกัด ชูจุดเด่นเครื่องจักรทันสมัยและขอใบอนุญาตระดับ GMP สมุนไพรอาเซียน สามารถสกัดสารจากกัญชงและกระท่อมที่ใช้กับอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงส่งออกในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ ที่รับรองมาตรฐาน พร้อมต่อยอดพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์บริษัทฯออกสู่ตลาดวางเป้าหมายปี 2567 ทำรายได้จากกัญชงและกระท่อมแตะ 1,000 ล้านบาท
TNR รุกใหญ่อุตสาหกรรม กัญชง กระท่อม กัญชา เต็มตัว ตั้งเป้าปี 67 ทำรายได้แตะ 1,000 ล้านบาท ลุยธุรกิจครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ หวังเป็น NEW S-Curve ดันการเติบโต

นายอมร ดารารัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TNR เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เดินหน้าขยายธุรกิจครั้งสำคัญ โดยการรุกเข้าสู่อุตสาหกรรม "กัญชง กระท่อม กัญชา" อย่างเต็มตัว ครอบคลุมตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ่านบริษัท ทีเอ็นอาร์ ไบโอไซเอินซ์ จำกัด (TNRBio) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TNR ถือหุ้น 100% มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจสกัด และจำหน่ายสารสำคัญพืชสมุนไพร โดยตั้งใจจะให้เป็นธุรกิจ New S-Curve ที่ผลักดันการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมุ่งเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจในด้านนี้ ด้วยการต่อยอดความเชี่ยวชาญจากธุรกิจหลักในปัจจุบันที่เป็นผู้ผลิตถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่น ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือแพทย์ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ

ทั้งนี้ บริษัทฯ เห็นโอกาสจากการที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันกัญชงและกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่และได้รับการปลดล็อกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เป็นที่เรียบร้อย โดยได้เริ่มศึกษาและรุกเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าวอย่างจริงจังตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แผนงานเฟสที่ 1 จะรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมกัญชง "ระดับต้นน้ำ" ปัจจุบันได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาสนับสนุนการทดสอบ วิจัย และพัฒนาสายพันธุ์กัญชงที่สามารถสกัดสาร CBD (Cannabidiol) ได้ในปริมาณสูง รวมถึงจัดตั้งจุดรับซื้อช่อดอกกัญชงและศูนย์ตรวจวัดค่าต่าง ๆ ตามมาตรฐาน

ขณะเดียวกัน ได้รุกเข้าสู่ธุรกิจ "ระดับกลางน้ำ" โดยลงทุนจัดตั้งโรงงานสกัดสารสำคัญจากกัญชงและกระท่อม เพื่อจำหน่ายสารสกัด CBD และ Mitragynine เพื่อนำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ พร้อมกับจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ (แล็บทดสอบ) เพื่อตรวจวัดระดับสารสำคัญ CBD ,THC รวมไปถึงสารปนเปื้อนและโลหะหนัก ทั้งในช่อดอกกัญชงและสารสกัด รวมถึงมีแผนขอรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการตาม ISO/IEC 17025 ภายในปี 2566 และจะรุกเข้าสู่ธุรกิจ "ระดับปลายน้ำ" พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพที่มีส่วนผสมสารสกัดจากกัญชงภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ ออกสู่ตลาด ส่วนแผนงานเฟสที่ 2 จะรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมกระท่อมโดยการจำหน่ายทั้งสารสกัดและผลิตภัณฑ์ รวมถึงศึกษาการรุกอุตสาหกรรมกัญชาเพื่อขยายธุรกิจเฟสที่ 3 ในอนาคต

ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในด้านการปลูกกับองค์กรต่าง ๆ แล้ว 3 แห่ง ได้แก่ (1) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อสนับสนุนโครงการศูนย์ทดสอบ วิจัย และพัฒนากัญชงอุตสาหกรรมเป็นระยะเวลา 5 ปี (2) บริษัท เอฟจีพี (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของสายพันธุ์กัญชง เพื่อสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์กัญชงมาใช้เพาะปลูกในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ และ (3) บริษัท ซีบีดี ไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการปลูกกัญชงในระดับอุตสาหกรรม โดยทำสัญญาคอนแทกฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) หรือระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อซื้อ-ขายช่อดอกกัญชงแห้งจากแปลงเพาะปลูกในโรงเรือนระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้น โดยมีกำหนดทยอยส่งมอบช่อดอกกัญชงแห้งให้บริษัทฯ ตั้งแต่เดือนเมษายน-ธันวาคม 2565 ขั้นต่ำ 18,000 กิโลกรัม

นอกจากนี้ทางบริษัทฯ เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัทที่มีความสนใจในการนำตัวสารสกัดจากพืชกัญชงไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ บริษัท แมคโครฟาร์ จำกัด, บริษัท สุพรีม ฟาร์มาเทค จำกัด และยังได้ บริษัท เมอราเคช จำกัด มาเป็นตัวแทนในการร่วมจัดจำหน่ายกับบริษัทฯ อีกด้วย ในส่วนของพืชกระท่อม บริษัทฯ เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ด้านการวิจัยพืชสมุนไพร เครื่องมือแพทย์ และอาหารทางการแพทย์ กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นายสุเมธ มาลิสีรังสี ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TNR กล่าวว่า ความคืบหน้าการจัดตั้งโรงงานสกัดภายในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง จังหวัดชลบุรี ใกล้กับที่ตั้งของโรงงานผลิตถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่นของ TNR ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2565 เพื่อให้ อย.ตรวจสอบ คาดว่าเดือนมิถุนายน 2565 จะทราบผลและเริ่มเดินเครื่องจักรโรงงานสกัดได้จากแผนงานขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมกัญชงและกระท่อม ทั้งนี้ หากได้รับใบอนุญาตโรงงานสกัดจากอย. ภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะสามารถผลิตสารสกัดได้ภายในครึ่งปีหลัง โดยมองว่าปี 2567 ธุรกิจกัญชง กระท่อม และกัญชา จะสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งประเมินรายได้จากการจำหน่ายสารสกัดแบบผงและแบบสารสกัดละลายน้ำที่เป็นสินค้าหลัก (ไม่รวมรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ และบริการทดสอบต่าง ๆ) เนื่องจากราคาขายของสารสกัด CBD แบบผงค่อนข้างสูง

นายทศพร นิลกำแหง ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TNR กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของโรงงานสกัดคือบริษัทฯ ได้ขอใบอนุญาตตามมาตรฐาน ASEAN GMP ผลิตภัณฑ์สมุนไพร จึงสามารถสกัดสารเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้ และสามารถส่งออกไปยังประเทศที่ได้รับรองมาตรฐานดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้มีการออกแบบโรงงานเพื่อให้รองรับการขอใบอนุญาตในระดับ GMP PIC/S ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เพื่อรองรับการสกัดสารที่ใช้ในการผลิตยาแผนปัจจุบันและแผนโบราณ

บริษัทฯ นำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในการสกัดจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยประกอบด้วยเครื่องจักร 3 ชุด ได้แก่ (1) ชุดเครื่องสกัด (2) ชุดเครื่องกลั่นระเหย และ (3) ชุดเครื่องตกผลึก ซึ่งทั้งหมดทำจากวัสดุสแตนเลส สตีล ซึ่งสอดคล้องตามมาตรฐาน GMP PIC/S โดยชุดเครื่องกลั่นระเหยเป็นแบบ 3 หอกลั่น สามารถสกัดสาร CBD จากกัญชง และสารเทอร์พีนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทฯ จะมีผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชง 3 รูปแบบ คือ (1) น้ำมัน (CBD Distillate) (2) แบบผง (CBD Isolate) และ (3) แบบสารละลายน้ำ (Water Soluble CBD) ซึ่งเหมาะสำหรับผสมในเครื่องดื่ม โดยเครื่องจักรสามารถรองรับการสกัดช่อดอกกัญชงแห้งสูงสุด 720 กิโลกรัมต่อวัน (เดินเครื่อง 1 กะ) ซึ่งบริษัทฯ มีความต้องการช่อดอกกัญชงแห้งประมาณ 165,900 กิโลกรัมต่อปี เพื่อให้ได้สารสกัดแบบผงประมาณ 9,100 กิโลกรัมต่อปี รวมถึงสามารถสกัดสาร Mitragynine จากใบกระท่อมได้อีกด้วย ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้เกิดความกระปรี้กระเปร่า บรรเทาปวด และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เป็นต้น

ในส่วนของด้านการวิจัยผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพร เครื่องมือแพทย์ และอาหารทางการแพทย์ จากสารสกัดพืชกระท่อมทางบริษัทฯ เตรียมทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปของบริษัทฯ ในอนาคต

รายได้หลักของ ทีเอ็นอาร์ ไบโอไซเอินซ์ จะมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกมาจากการจำหน่ายสารสกัด CBD จากพืชกัญชงแก่ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ เน้นสารสกัดแบบผง (CBD Isolate) และแบบสารละลายน้ำ (Water Soluble CBD) และรายได้หลักส่วนที่ 2 จะมาจากการนำสารสกัด CBD จากพืชกัญชง มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ เช่น เครื่องดื่ม และสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาโดย บริษัท เอส วี เอส อินโนเทค จำกัด และบริษัท โกพลัส เฮลธี จำกัด คาดว่าจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2565 รวมถึงการนำสารสกัดจากกัญชงไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่นเพื่อส่งออกต่างประเทศ จากนั้นจะขยายไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสาร Mitragynine จากกระท่อม นายทศพร กล่าว

ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ