นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ดำเนินการโครงการพัฒนาระบบการรับรองผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ โดยการประยุกต์ใช้ระบบการประเมินผู้ส่งมอบ (Supplier Audit) เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตเข้าสู่ระบบรับรองผลิตภัณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย โดยจัดทำคู่มือตรวจประเมินผู้ผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนเป็น Approved Supplier List (ASL) ของโรงงาน/สถานประกอบการ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานให้มีความสอดคล้องกับระบบ Supplier Audit และเหมาะสมต่อโรงงาน/สถานประกอบการ ที่จะนำไปใช้ รวมทั้งพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพเป็นผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน GAP พืชอาหาร และพัฒนาเป็นผู้ส่งเสริมและเป็นที่ปรึกษาให้แก่เกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP และพัฒนาผลิตผล ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารให้มีคุณภาพ และปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ โดยได้คัดเลือก บริษัท ศรีเชียงใหม่อุตสาหกรรม จำกัด เป็นพื้นที่นำร่อง และชนิดสินค้าผลิตภัณฑ์นำร่อง ได้แก่ มะเขือเทศ
ปี 2564 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมหลักสูตรต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่ 1.การอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่บริษัทฯ ได้แก่ การชี้แจงร่างคู่มือตรวจประเมินเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร เพื่อขึ้นทะเบียนเป็น Approved Supplier List: ASL ของโรงงาน/สถานประกอบการของหน่วยงาน การจัดทำระบบ Supplier Audit หลักสูตรที่ปรึกษาเกษตรกรด้านมาตรฐาน GAP พืชอาหาร 2.การอบรมสำหรับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ในหลักสูตร การปฏิบัติตามหลักการ GAP และระบบ ICS เพื่อการประยุกต์ใช้กับระบบ Supplier Audit
สำหรับใน ปี 2565 ได้ดำเนินการ 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.อบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรแนวทางและเทคนิคการตรวจประเมินตามมาตรฐาน GAP และระบบการควบคุมภายใน (Internal Control System : ICS) เพื่อการประยุกต์ใช้กับระบบ Supplier Audit ซึ่งดำเนินการไปแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา และ 2.กิจกรรมจัดทำระบบ ICS กลุ่มเกษตรกรและการประยุกต์ใช้คู่มือ Supplier audit สำหรับโรงงาน/สถานประกอบการ ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดทำระบบการจัดการ ความปลอดภัยอาหาร ได้แก่ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI)
ทั้งนี้ บริษัท ศรีเชียงใหม่อุตสาหกรรม จำกัด ดำเนินธุรกิจแปรรูปมะเขือเทศ เป็นน้ำมะเขือเทศเข้มข้นและเป็นโรงงานแปรรูป มะเขือเทศแห่งแรกในประเทศไทย ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการผลิตและการประกันคุณภาพตามมาตรฐานสากล HACCP, GMP , HALAL และได้รับการรับรอง Certificate of Registration of Premises as an Export Organization โรงงานผลิตสินค้าเกษตรกรเพื่อการส่งออก จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย บริษัทฯ ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดทำระบบ Supplier Audit ที่ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ตรวจประเมินตามมาตรฐาน GAP อีกทั้งช่วยเกษตรกร รายย่อยในการลดต้นทุน กรณีมีการถ่ายโอนงานตรวจสอบรับรองให้กับภาคเอกชน และสามารถขยายผลการนำระบบ Supplier Audit ไปใช้อย่างแพร่หลาย โดยหน่วยงานภายใต้ ส.อ.ท. อื่นๆ สามารถนำต้นแบบของบริษัทฯ ไปประยุกต์ใช้
"อย่างไรก็ดี มกอช. วางเป้าหมายจะขยายพื้นที่นำร่อง และชนิดผลิตภัณฑ์เพื่อให้การรับรองผลิตภัณฑ์ในระบบ Supplier Audit ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร พร้อมทั้งดำเนินการการศึกษาและวิเคราะห์ความพร้อมของหน่วยงานเป้าหมาย สำหรับการเป็นหน่วยตรวจ (Inspection Body: IB) ตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17020 ในการตรวจประเมิน ตามมาตรฐาน มกษ. หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่า การพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานเป้าหมายที่จะทำหน้าที่ในระบบคุณภาพของหน่วยตรวจ และการพัฒนาเอกสารระบบคุณภาพสำหรับใช้ในหน่วยตรวจเป้าหมาย ให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17020 : 2012"รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว
ที่มา: สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ