นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2565 คาดว่า ยังมีการเติบโตที่ดี สามารถทยอยรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะ รวม 11 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 ,TPCH 2 และโรงไฟฟ้าขยะ SP มีกำลังการผลิตรวม 116.3 เมกะวัตต์
"เราประเมินผลงานในปีนี้ คาดว่า ยังมีทิศทางที่ดี เนื่องจากจะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) ที่ได้รับราคาค่าไฟค่อนข้างสูง รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวลเดิมทั้ง 10 แห่ง ขณะเดียวกัน การเดินเครื่องของ โรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน เพาเวอร์ ,TPCH 1 , TPCH 2 , TPCH 5 มีความเสถียรมากขึ้น รวมทั้ง การเตรียม COD โรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล อีก 2 แห่ง มั่นใจว่า จะช่วยสนับสนุนผลงานในปีนี้ให้เติบโตที่ 30-40% ได้" นางกนกทิพย์กล่าว
ด้านนายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH กล่าวว่า TPCH เตรียมพร้อมที่จะ COD โรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลาน กำลังการผลิตรับซื้อไม่เกิน 2.85 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา กำลังการผลิตรับซื้อไม่เกิน 2.85 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก และคาดว่าจะสามารถ COD ได้ภายในไตรมาส 2/65 อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอีกประมาณ 4-6 แห่ง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โดย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงตั้งเป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวม 250 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็น โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ชีวภาพ ขนาด 200 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะ 50 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566
"ในปี 65 นี้ TPCH ให้ความสำคัญและอยู่ระหว่างการศึกษานโยบายการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) โดยการนำพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ในปี 2565 ประมาณ 122 เมกะวัตต์ มาทำการซื้อขาย Carbon Credit ในรูปแบบของ I-REC (International Renewable Energy Certificate) ซึ่งเป็นการขอรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและนำ Carbon Credit มาขายเพื่อก่อให้เกิดรายได้จริงในปีนี้ ซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวล 10 เมกะวัตต์ จะลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 30,000-40,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ดังนั้นหาก บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้า ประมาณ 122 เมกะวัตต์ จะลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 400,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อปี และสามารถซื้อขาย I-REC ได้ประมาณ 700,000 I-REC ต่อปี อีกทั้ง ยังอยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจอื่นที่อาจก่อให้เกิดรายได้นอกเหนือจากการขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง" นายเชิดศักดิ์ กล่าวในที่สุด
อนึ่ง ภาพรวมผลการดำเนินงานของปี 2564 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564) มีรายได้รวม 2,470.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.0% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้รวม 1,777.37 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 135.40 ล้านบาท ขณะที่งวดไตรมาส 4/2564 บริษัทฯ มีรายได้รวม 600.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 471.99 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลงวดปี 2564 เป็นเงินสดอีก 0.053 บาท/หุ้น กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date)ในวันที่ 28 เมษายน 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ซึ่งบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในงวด 9 เดือนแรก ในอัตรา 0.343 บาท/หุ้นไปแล้ว เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวขึ้นอยู่กับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทในวันที่ 21 เมษายน 2565
ที่มา: ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง