การประกาศรับรองมาตรฐานการศึกษาด้านบริหารธุรกิจระดับสากล ของสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีในระดับสากล หรือ AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สถาบันรับรองมาตรฐานสถาบันการศึกษาด้านการบริหารระดับธุรกิจระดับโลกให้กับบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม หรือ GMI (Graduate School of Management and Innovation) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คือการยืนยันถึงวิสัยทัศน์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้อย่างชัดเจน
"ผู้บริหาร มจธ. ในยุคนั้นเล็งเห็นว่า นอกจากการสร้างผู้มีทักษะวิชาชีพชั้นสูงในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว การสร้างโอกาสเพิ่มพูนทักษะและความรู้ด้านการบริหารจัดการให้เขามีความพร้อมในการเป็นผู้นำของหน่วยงาน ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป มจธ. จึงจัดตั้ง GMI ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2545 เพื่อให้การศึกษาระดับปริญญาโทกับนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์และสาขาอื่นๆ ที่สนใจ" ผศ. ดร.วรพจน์ อังกสิทธิ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของ GMI
จุดเด่นของ GMI ตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือ ตัวหลักสูตรที่มีเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีความแตกต่างจากหลักสูตรในคณะบริหารธุรกิจของสถาบันการศึกษาอื่นๆ เช่น หลักสูตรการจัดการสำหรับการเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม การจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม การจัดการธุรกิจดิจิทัล ฯลฯ
และจากความสำเร็จที่ได้รับการยอมรับทั้งจากบุคลากรและผู้บริหารในภาคธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นก้าวต่อไปของ GMI ก็คือ การทำให้ GMI มีมาตรฐานการดำเนินการที่ทัดเทียมกับคณะบริหารธุรกิจในสถาบันการศึกษาชั้นนำแห่งอื่นๆ ในประเทศ และในระดับโลก
"เนื่องจาก สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจ หรือ AACSB เป็นหน่วยงานที่มีเครือข่ายกับสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจระดับโลกกว่า 1,600 แห่ง การได้รับการรับรองมาตรฐานด้านการเป็นสถาบันด้านการบริหารธุรกิจ จาก AACSB จะทำให้เราสามารถยืนอยู่ในระดับเดียวกับสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจชั้นนำ ทั้งในประเทศไทย รวมถึงทั่วโลกได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งทางคณาจารย์และบุคลากรทั้งหมดของสถาบัน ได้มีเป้าหมายและการทำงานร่วมกันที่เพื่อให้ GMI ได้รับการรับรองจาก AACSB มาตั้งแต่ปีแรกที่เข้าร่วมสมาชิกของ AACSB เมื่อปี พ.ศ.2554 ผ่านการทำงานใน 3 ส่วนไปพร้อมกันคือ การสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) นวัตกรรม (Innovation) และการสร้างผลกระทบ (Impact)" คณบดีกล่าวถึงที่มาของการขอรับการรับรองมาตรฐานจาก AACSB
ด้าน ผศ. ดร.ปฏิภาณ แซ่หลิ่ม รองคณบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพ GMI ในฐานะผู้รับผิดชอบการขอรับมาตรฐานจาก AACSB กล่าวเสริมว่า หากสถาบันการศึกษาใดได้รับได้รับการรับรองมาตรฐานจาก AACSB หมายความว่าสถาบันนั้นมีกระบวนการการบริหารจัดการ รวมถึงแนวทางการพัฒนาหลักสูตรที่ได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งการที่ GMI สามารถได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลทัดเทียมกับสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจชั้นนำในประเทศอีก 7 แห่ง ที่ได้รับการรับรองมาก่อนหน้านี้ ซึ่งทั่วโลกมีหน่วยจัดการศึกษาด้านบริหารธุรกิจได้รับการรับรองมาตรฐานจาก AACSB รวมทั้งสิ้น 937 แห่ง ใน 60 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของสถาบันขนาดเล็กที่มีอายุเพียง 20 ปีแห่งนี้
"ในการพิจารณาเพื่อรับรองมาตรฐานของ AACSB นั้น จะเริ่มตั้งแต่การเข้ามาศึกษาและวิเคราะห์ว่าทางเราได้มีการดำเนินการในแต่ละส่วนตามไกด์ไลน์ หรือหัวข้อพิจารณาของเขาในลักษณะที่สอดคล้องกับเป้าหมาย และพันธกิจของเราเองมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เรานำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับให้เข้ากับสิ่งที่เรามีอยู่ ซึ่งด้วยกระบวนการที่ต้องทำไปพร้อมๆ กันในหลายภาคส่วนที่ต่างก็มีรายละเอียดค่อนข้างมากนี้ การได้รับการได้รับมาตรฐานระดับสากลเทียบเท่าคณะบริหารในสถาบันชั้นนำในประเทศ จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการเติบโตของ GMI
ผศ. ดร.วรพจน์ คณบดี GMI กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการรับรองมาตรฐานของ AACSB ในครั้งนี้นอกจากจะทำให้ทั่วโลกได้รู้จัก GMI ในฐานะหน่วยงานการศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่มีมาตรฐานระดับโลก ที่เป็นโอกาสนำไปสู่ความร่วมมือกับสถาบันหรือภาคเอกชนในระดับโลกในโอกาสต่อไปแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงอีกส่วนหนึ่งก็คือ "นักศึกษา" นั่นเอง
"นอกจากการเป็น School of Management and Innovation ที่โดดเด่นและแตกต่างจากสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจแห่งอื่นๆ แล้ว การได้รับการรับรองจาก AACSB คือเครื่องยืนยันว่า สถาบันแห่งนี้มีมาตรฐานการจัดการศึกษาระดับโลก ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้สำเร็จการศึกษาสำหรับการทำงานหรือสมัครงานกับบริษัทนานาชาติได้"
ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจาก AACSB มีทั้งหมด 8 แห่ง ได้แก่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS), สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (SASIN), คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TBS), วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC), คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มจธ. (GMI) เป็นสถาบันล่าสุด
และสำหรับผู้ที่กำลังจะศึกษาต่อระดับปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษา ประจำภาคการศึกษาที่ 1/2565 ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://gmi.kmutt.ac.th/course หรือติดต่อที่ 02 470-9799, 084 676-5885 และอีเมล [email protected]
ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี