ผลสำรวจประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 เผยให้เห็นถึงภาพรวมของค่าความสุขของคนไทยที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองซึ่งสร้างความกังวลใจให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก ส่งผลให้คนไทยหันมาใส่ใจในเรื่องของความปลอดภัยความมั่งคั่ง และการจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวัง
คุณชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า "จริง ๆ แล้วคนไทยนั้นชอบช้อป แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ต่างๆ ตอนนี้ ทำให้สินค้าหลายๆ อย่างมีราคาสูงขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค ทำให้คนไทยระมัดระวังเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และซื้อของที่ไม่จำเป็นลดลง"
แนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายจากผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 พบว่า รายการสินค้าที่ผู้บริโภคไทยให้ความสำคัญมากที่สุดในช่วงนี้ได้แก่ อาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน และโทรศัพท์มือถือ ตามลำดับ สาเหตุเกิดจากการเตรียมตัวให้พร้อมต้อนรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อสังสรรค์กับครอบครัว เน้นซื้อของที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และยังคงให้ความสำคัญกับการซื้อของต่างๆ เพื่อคนในครอบครัว
"แม้จะมีข้อจำกัดจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่คนไทยยังคงให้ความสำคัญกับความสำคัญกับครอบครัวและเครือญาติ อย่างการรวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองในวันปีใหม่ไทย และการไหว้บรรพบุรุษ แต่จะถูกปรับเปลี่ยนวิธีมาเป็นการเฉลิมฉลองด้วยวิธีที่ปลอดภัยอย่างการฉลองที่บ้าน แทนการออกไปนอกสถานที่ ทำให้ผลสำรวจออกออกมาสอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้ออาหารกักตุนไว้ที่บ้านช่วงสงกรานต์" คุณดวงแก้ว ไชยสุริวิรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส (ประเทศไทย)กล่าวเสริม
อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กลับพบอีกประเด็นหนึ่งที่แบรนด์ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ ประเด็นด้านสงคราม การเมือง เศรษฐกิจ การลงทุน และอาชญากรรม ที่ส่งผลให้สินค้าอุปโภคและบริโภคมีราคาสูงขึ้น ทำให้คนไทยมองหาความมั่งคั่งมากกว่างานที่มั่นคง เพื่อให้มีรายได้ที่มากขึ้นชดเชยกับค่าใช้จ่าย และต้องวางแผนการจับจ่ายให้รัดกุมมากขึ้น ลดการเดินทางและการท่องเที่ยว แต่ยังคงใส่ใจครอบครัวด้วยการซื้อของให้ญาติผู้ใหญ่ในวันสำคัญเพื่อสื่อความห่วงใยแม้ตัวห่างไกลกัน
เพื่อให้แบรนด์สามารถทำการตลาดได้สอดคล้องกับสถานการณ์ช่วงซัมเมอร์นี้ คุณพรนภัส สุลัยมณี นักวางแผนกลยุทธ์ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส (ประเทศไทย) ได้ให้คำแนะนำว่า
- แบรนด์ควรชวนคลายเครียดด้วยกิจกรรมใหม่ๆ เน้นเสริมความสัมพันธ์กับครอบครัวแต่ยังปลอดภัยหลบโควิด เพราะเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาของครอบครัว ที่แบรนด์สามารถเข้าไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เปลี่ยนบรรยากาศการเฉลิมฉลองกับครอบครัว สนับสนุนการอุปโภคและบริโภคสินค้าภายในบ้านที่ดีต่อสุขภาพและจิตใจเป็นหลัก เพื่อชดเชยข้อจำกัดด้านการเดินทางท่องเที่ยว หรือ กลับบ้านไปหาครอบครัวในช่วงโควิดโอไมครอนนี้
- เสนอโปรโมชันช่วงซัมเมอร์ที่แปลกใหม่ พร้อมสนับสนุนการส่งความรักความห่วงใยถึงกัน เพื่อต้อนรับช่วงเวลาที่สำคัญของครอบครัว อย่างการส่งมอบความรักความห่วงใยให้กับครอบครัวหรือคนที่เรารักแม้อยู่ห่างไกลกัน
"สถานการณ์เช่นนี้ถือเป็นความท้าทายของทุกๆ ฝ่ายในการที่จะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ แม้ว่าโควิด- 19 จะทำให้เราไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวที่ไหนไกล แต่เรายังสามารถแสดงความห่วงใยให้คนที่เรารักและกระชับความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวหรือคนสำคัญในชีวิตของเราได้ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เราเล็งเห็นถึงช่องว่างนี้ และหวังว่าแบรนด์ต่างๆ จะนำข้อเสนอแนะนี้ไปปรับใช้กับแผนการตลาดของตน เพื่อให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดเข้มข้นสู่เศรษฐกิจฝืดเคือง และเพิ่มความสุขให้คนไทยในไตรมาสต่อไปได้" คุณพรนภัส สุลัยมณี กล่าวปิดท้าย
เกี่ยวกับสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย)
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) ทำการศึกษาเกี่ยวกับ "การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย" ทุก ๆ สองเดือน โดยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 เป็นผลสำรวจจากการรวบรวมข้อมูลจากวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ถึง วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2565 โดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับแนวโน้มและพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยในอนาคต ผ่านการทำแบบสอบถามเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จากประชากรเพศชายและหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาค ทั่วประเทศ
Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN คือศูนย์วิจัยแห่งใหม่ของกลุ่มฮาคูโฮโดในภูมิภาคอาเซียน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2014 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ภายในประเทศสมาชิกภูมิภาคอาเซียนในเรื่องของข้อมูลการตลาด รวมทั้งสังเกตไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยการวิจัยของฮาคูโฮโดจะเป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นการศึกษา Sei-katsu-sha หรือ ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม (Living person) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาของฮาคูโฮโด ที่ไม่เพียงแค่อธิบายผู้คนในฐานะผู้บริโภคที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่อธิบายถึงความเป็นบุคคลของผู้บริโภคที่มีชีวิต จิตใจ ไลฟ์สไตล์ แรงบันดาลใจ และความฝันที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
ติดตามผลสำรวจเพิ่มเติมได้ที่
Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND)
https://www.facebook.com/hakuhodohillasean
ที่มา: มิดัส คอมมิวนิเคชั่น อินเตอร์เนชั่นเนล