บมจ. ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) หรือ TFEX เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา
Session แรก
"สงคราม-ธุรกิจการค้า-ค่าเงิน" จะเป็นอย่างไร ร่วมฟังการวิเคราะห์เรื่องเศรษฐกิจในปัจจุบันท่ามกลางประเด็นสงคราม, การค้า, ค่าเงิน และการปรับตัวอย่างไร รวมถึงแนวโน้มเมกะเทรนด์หลังจากนี้สำหรับ ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ลงทุนทั่วไป กับ ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
เศรษฐกิจโลก
ตอนนี้เรียกว่ากำลังค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นจากสถานการณ์ Covid-19 ซึ่งก่อนหน้านี้ IMF คาดการณ์ตัวเลข GDP ปีนี้น่าจะเติบโตรวมที่ 4.4% แต่พอเกิดประเด็นสงครามยูเครนกับรัสเซียขึ้นมา ก็อาจทำให้ตัวเลขโตไม่ถึง 4.4% จากที่ประมาณการไว้ แต่อย่างไรก็ตามยังถือว่าอยู่ในอัตราขยายตัวได้ดี ทางฝั่งยุโรปจะโดนกระทบจากปัจจัยเรื่องการพึ่งพาพลังงานรัสเซีย ส่วนรัสเซียนั้นคาดว่าจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นทั้งโดนกดดันจากประเทศต่างๆ และการถูกตัดออกจากระบบโอนเงิน SWIFT
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังมีแนวโน้มอยู่ในขาขึ้น ซึ่งประเทศไทยนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ค่อนข้างสูง ฝั่งสินค้าที่เราส่งออกมากก็คือน้ำตาลและข้าว แต่ทิศทางราคาข้าวกลับต่ำลงสวนทางกับสินค้าโภคภัณฑ์ตัวอื่นๆ ส่วนราคาน้ำมันยังคงอยู่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง มีลดระดับลงมาบ้างแต่คงไม่ต่ำเท่าช่วงก่อน Covid-19 เรายังได้มาตรการจากรัฐช่วยตรึงราคาน้ำมันไว้บ้างบางกลุ่ม เช่น ดีเซล แต่อนาคตก็จะลดระดับการตรึงราคาลงเช่นกัน
ด้านค่าระวางเรือก็ขึ้นมาสูงมากตั้งแต่มี Covid-19 โดยขึ้นมาหลายเท่าจากช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งกลายเป็นต้นทุนที่ผู้นำเข้า-ส่งออกต้องแบกรับ ฝั่งธุรกิจด้าน Semiconductor ราคาก็ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับรัสเซียเป็นผู้ส่งออก Palladium รายใหญ่ยิ่งส่งผลบวกต่อราคาขึ้นไปอีก
เรื่องอัตราดอกเบี้ย FED ก็มีแผนปรับขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้เพื่อลดภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น พร้อมกับเตรียมดึงเงินออกจากระบบด้วย Quantitative Tightening (QT) ส่วนบ้านเราน่าจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ในครึ่งปีแรกเงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าไหลออกไปสู่ต่างประเทศ ซึ่งอ่อนกว่าประเทศใกล้เคียงอื่นๆ ในภูมิภาค และน่าจะแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
ปัจจัยเสี่ยงในประเทศไทย
Covid-19 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว นั่นทำให้นักท่องเที่ยวจะเข้ามาง่ายขึ้น กฎเกณฑ์ในการประกอบกิจการจะผ่อนปรนขึ้น ตัวเลขการท่องเที่ยวน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ทั้งนี้ก็ต้องจับตาต่อว่าจะมีเรื่องเซอร์ไพรส์ไหม
ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องเงินเฟ้อ ในช่วงก่อน Covid-19 เรามีตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ประมาณ 1-2% แต่หากดูช่วงกุมภาพันธ์ปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วนั้น สูงขึ้นถึง 5.3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก เนื่องจากต้นทุนหลายอย่างเพิ่มสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน ราคาเนื้อหมู ค่าไฟและค่าน้ำ ไปทางเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภค Consumer Price Index ที่สูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับดัชนีราคาผู้ผลิต Producer Price Index แล้ว ฝั่งผู้ผลิตกลับต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากกว่า โดยปีนี้คาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ที่ 4-4.5%
การฟื้นตัวต่างๆ จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เรื่องการท่องเที่ยวประมาณการตัวเลขปีนี้อยู่ที่ 5 ล้านคน โดยเน้นเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างจีนหรือรัสเซียน่าจะยังไม่สามารถมาได้ ในเรื่องการส่งออกก็ยังค่อยๆ ฟื้น คาดการณ์อยู่ที่ 5% ต่างจากปีที่แล้วที่โตถึง 17% ส่วนตัวเลข GDP คาดโตประมาณ 3-3.5% หลังจากเจอเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน
โลกหลังโควิด
สงครามเทคโนโลยี สองประเทศมหาอำนาจสหรัฐกับจีนจะช่วงชิงความเป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น AI, Quantum Computing, Blockchain, Cyber Security ต่อไปอุตสาหกรรม Hi-Tech จะถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝั่ง US จะเน้น Privacy ของผู้ใช้งาน ส่วนฝั่งจีนเน้นต้องให้ข้อมูล จึงทำให้บริษัทต่างๆ เริ่มย้ายออกจากจีนเพื่อลดความเสี่ยง โดยกระจายออกไปยังประเทศต่างๆ ประเทศไทยก็ได้รับอานิสงส์จากการย้ายออกตรงนี้ด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเทคโนโลยี เช่น ยานยนต์และคอมพิวเตอร์
Digitalization จะเร่งขึ้นและ Digital Asset จะได้รับการยอมรับพร้อมเติบโตเร็วมากขึ้น ในภาคเอกชนเองก็เริ่มเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องเหล่านี้มากขึ้นแล้ว
การลดคาร์บอนจะถูกให้ความสำคัญมากขึ้น ลดมลพิษในระยะยาว ธุรกิจสีเขียวจะเป็นมาตรฐานในภายภาคหน้า ในฝั่งยุโรปจะคำนึงเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างมาก หากธุรกิจไหนไม่ผ่านเกณฑ์ก็อาจโดนเรียกเก็บภาษีมากขึ้นได้
ความต้องการสินค้าชีวภาพในโลกสูงขึ้น เช่น อาหารที่ทำจากพืช หรือเครื่องสำอาง ตรงนี้ถือเป็นที่ต้องการมากจากทั้งโลก เน้นผลิตภัณฑ์ที่คิดถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งไทยถือว่ามีทุนดีอยู่แล้วเรื่องเกษตร สามารถนำไปต่อยอดได้ หากทำได้ดีก็จะเพิ่มฐานลูกค้าต่างประเทศได้ด้วย
ESG ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น เดี๋ยวนี้ต่างชาติจะมาลงทุนเขาจะถามก่อนเลยว่ามี คะแนน ESG เป็นอย่างไร ผ่านเกณฑ์ไหม เพราะสื่อถึงความสามารถในการจัดการและรับผิดชอบให้เกิดผลกระทบทางบวก
สัดส่วนประชากรสูงวัยในโลกมากขึ้น ซึ่งตามมาด้วยกำลังซื้อสูง ส่วนประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยแต่รายได้ภาพรวมไม่ได้สูงขึ้นตาม
ความเหลื่อมล้ำและความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้น ผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อย จะมีความเหลื่อมล้ำกับผู้มีรายได้สูงมากขึ้น จากการเข้าไม่ถึงการให้บริการจากภาครัฐหรือการช่วยเหลือของนโยบายต่างๆ นโยบายการทำงานที่บ้านก็ไม่สามารถตอบโจทย์ได้กับคนทุกระดับ
ดังนั้นนอกจากไทยต้องดูเหตุการณ์ต่างๆ จากตลาดโลกแล้ว ยังต้องคอยจับตามอง Megatrend ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเทรนด์เหล่านี้จะเข้ามาเปลี่ยนธุรกิจหรือเศรษฐกิจของเราไป แต่เทรนด์เหล่านี้อาจจะเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในอนาคตของคุณให้เป็นที่รู้จักและเชื่อมต่อกับทั้งโลกได้
Session ที่สอง
หนึ่งในการรับมือกับความเสี่ยงที่ดี ก็คือการรู้จักและทำความเข้าใจในเครื่องมือบริหารความเสื่ยงนั้น มาเริ่มทำความเข้าใจไปพร้อมกันในหัวข้อ "รู้จักครื่องมือ แนวทางการใช้ USD Futures" ให้ทันสถานการณ์ ช่วยบริหารความเสี่ยง โดย ดร. จักรพันธ์ ติระศิริชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์อนุพันธ์ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และคุณเดชธนา ฟางสะอาด ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์รายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)
เริ่มจากปัจจัยหลักที่มีผลต่อค่าเงินในแต่ละประเทศ คือ Balance of Payment, Real Interest Rate และ GDP Growth ซึ่งดุลบัญชีเดินสะพัดก็เป็นส่วนย่อยของ Balance of Payment โดยมีส่วนกระทบค่อนข้างสูง ซึ่งโดยทั่วไปหากประเทศนั้นๆ เศรษฐกิจดีค่าเงินจะแข็ง หากเศรษฐกิจแย่ค่าเงินจะอ่อน
แล้วอะไรบ้างที่ส่งผลต่อ Dollar
- Dollar Index เป็นดัชนีที่รวมเงินสกุลหลายๆ ประเทศเฉลี่ยสัดส่วนกัน ได้แก่ Euro, Japanese Yen, British Pound, Canadian Dollar, Swedish Krona และ Swiss Franc โดยมีสัดส่วนของ Euro มากที่สุด
- การค้าขายผ่านระบบ SWIFT ส่วนใหญ่จะเป็นสกุลเงิน Dollar และ Euro
- ปริมาณเงินสำรองของธนาคารกลางทั่วโลก ส่วนใหญ่ยังใช้เป็นสกุลเงิน Dollar
ความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงค่าเงิน
การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินนั้น จะส่งผลกระทบต่อรายได้และค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ หากเปรียบเทียบ Dollar กับเงินบาท ถ้าเงินบาทแข็งค่า คือจะใช้เงินบาทน้อยลงในการแลก Dollar มา ซึ่งจะดีต่อกลุ่มผู้นำเข้า ที่ต้องจ่ายเงินออกไปเป็น Dollar โดยเราใช้เงินบาทที่น้อยลงกว่าเดิมเพื่อให้ได้ Dollar มา แต่หากเราเป็นผู้นำเข้าแล้วเงินบาทยังอ่อนค่าอีก เราก็ต้องแบกรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ เป็นความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องบริหารจัดการ
อุปสรรคในการบริหารความเสี่ยงค่าเงินของผู้ประกอบการ
การบริหารความเสี่ยงของค่าเงินนั้น โดยทั่วไปหลายคนอาจจะนึกถึงการทำ Forward กับธนาคาร แต่การทำ Forward อาจมีข้อจำกัดหรือไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงได้ เช่น ขนาดสัญญามักเป็นขนาดใหญ่ ต้องทำธุรกรรมโดยตรงกับธนาคาร หรือต้องมีวงเงินกับธนาคารพาณิชย์ ยกเลิกหรือปิดสัญญาก่อนกำหนดทำได้ยาก ตลาด TFEX จึงได้ทำสินค้า USD Futures ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการหรือผู้ที่มีความเสี่ยงด้านค่าเงิน โดยมีสัญญาขนาดเล็กมูลค่า $1,000 / สัญญา เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกสัญญา ใช้การวางเงินหลักประกันแค่บางส่วนไม่จำเป็นต้องใช้เงินเต็มจำนวน (1 สัญญาวางเงินหลักประกันประมาณ 600 กว่าบาท) ซื้อขายด้วยตัวเองได้ผ่านตลาด TFEX ปิดสถานะเมื่อไหร่ก็ได้จนถึงช่วงเวลากลางคืน หรือหากต้องการแลกเงิน Dollar ก็สามารถแลกได้ด้วยบริการแลกดอลล่าร์รายวัน จึงสะดวก คล่องตัว เป็นทางเลือกให้กับทุกคน
USD Futures เหมาะกับใคร?
- ผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า / ส่งออก ที่มีภาระผูกพันเกี่ยวกับเงิน Dollar
- ผู้ลงทุนทั่วไป หรือผู้ที่สนใจทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน
ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงด้วย USD Futures จึงเสมือนเป็นการล็อคอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยล็อครายได้หรือค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่คาดไว้ การซื้อขาย USD Futures จะซื้อขายในตลาด TFEX โดยมี Market Maker ดูแลเรื่องสภาพคล่องการซื้อขายให้ จะมีคำสั่งเสนอซื้อและเสนอขายอยู่ตลอดเวลาที่เปิดทำการ ปัจจุบันมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 27,000 สัญญา ทำให้นักลงทุนไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพคล่อง
แนวโน้มทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน
ในปัจจุบันค่าเงิน Dollar ยังแข็งค่าอยู่ แต่ในระยะยาวมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้ ส่วนค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งขึ้น จากโอกาสและนโยบายต่างๆ ที่เตรียมออกมาของไทย แนะนำระยะสั้นให้มองหาจังหวะเล่นฝั่ง Short USD Futures ก่อน เรื่องการฟื้นตัวของประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังค่อยๆ กลับมา และเตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ย ต่างกับญี่ปุ่นที่ยังดูไม่ค่อยฟื้นและยังไม่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นได้ ค่าเงินเยนจึงค่อนข้างอ่อน และยังมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่
สินค้าใหม่ในไตรมาส 3 ปีนี้
TFEX จะมีสินค้าด้านอัตราแลกเปลี่ยนออกใหม่คือ อัตราแลกเปลี่ยนคู่สกุลเงินบาทจำนวน 2 สินค้า EUR/THB, JPY/THB และอัตราแลกเปลี่ยนคู่สกุลต่างประเทศอีก 2 สินค้า EUR/USD, USD/JPY เพื่อเป็นทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุน
รับชมสัมมนาออนไลน์ย้อนหลัง "สงคราม-ธุรกิจการค้า-ค่าเงิน: รู้ทันสถานการณ์โลก ตั้งการ์ดรับ พร้อมปรับตัว" ได้ที่
https://setga.page.link/L8NPAC85ptbnaZQc6
ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย