นายอลงกรณ์ฯ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของประเทศ ซึ่งได้นำหลักโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG มาใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อสร้างความยั่งยืนและความยืดหยุ่นในระบบอาหารและการเกษตร ตลอดจนนโยบาย 3S ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ Safety (ความปลอดภัย) Security (ความมั่นคง) และ Sustainability (ความยั่งยืน) และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาชนบท ประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีมาใช้เป็นหลักในการขับเคลื่อน โดยได้จัดตั้งศูนย์เทคโนโยลีเกษตร และนวัตกรรม (AIC) ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรไปสู่ชนบท และศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) เพื่อนำข้อมูล Big Data ไปใช้ในการวางแผนพัฒนาการเกษตรที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งนี้ ประเทศไทยยินดีที่จะร่วมมือกับสมาชิก CIRDAP เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผ่านการพัฒนาการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีสู่เกษตรกรในชนบท และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce)
ในการประชุมระดับรัฐมนตรี CIRDAP ครั้งที่ 23 เป็นการประชุมสืบเนื่องจากการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส CIRDAP ครั้งที่ 33 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 โดยมีนายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมฯ ที่ประชุมได้มีการหารือและรับทราบผลการดำเนินงานผู้อำนวยการใหญ่ CIRDAP และข้อมติของคณะกรรมการ Technical Committee , Executive Committee และ Governing Council จากการประชุมที่ผ่านมา การรายงานผลการสอบบัญชี CIRDAP ปี 2018-2019 และ 2020-2021 โดยการสอบบัญชีในครั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือ CIRDAP แต่งตั้งผู้แทนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้สอบบัญชี
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการพิจารณาเห็นชอบร่วมกันในการกำหนดให้วันที่ 6 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวัน World Rural Development Day ซึ่งตรงกับวันก่อตั้ง CIRDAP เพื่อสร้างการรับรู้การพัฒนาชนบทของประเทศกำลังพัฒนา และการเรียกร้องให้ทั่วโลกให้ความสนใจ และตอบสนองต่อประเด็นดังกล่าว เพื่อเร่งดำเนินการพัฒนาชนบทเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี พ.ศ. 2573 และได้รายงานผลการพิจารณาเหรียญรางวัลเชิดชูเกียรติ Aziz-Ul Haq Rural Development Medal ซึ่งมอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่มีบทบาทเป็นที่ประจักษ์ในด้านการพัฒนาชนบท โดยในปี พ.ศ.2565 นี้ CIRDAP ได้ประกาศมอบให้รางวัลให้แก่
ระดับบุคคล
- สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- อดีตผู้อำนวยการใหญ่ CIRDAP ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481-2563
- Dr. Muhammad Amjad Saqib, ชาวปากีสถาน
ระดับองค์กร
- Bangladesh Academy for Rural Development (BARD), บังกลาเทศ
- Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO), อิตาลี
- Benazir Income Support Programme (BISP), ปากีสถาน
อนึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชกรณียกิจในด้านการพัฒนาชนบทเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโภชนาการและความมั่นคงอาหาร ทรงเป็นผู้นำและต้นแบบในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารและปรับปรุงโภชนาการของเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารและทรงได้รับการยกย่องเป็นทูตพิเศษ (Special Ambassador) ของสหประชาชาติด้าน Zero Hunger (การขจัดความหิวโหย)
ก่อนจบการประชุม นายอลงกรณ์ฯ ได้กล่าวเชิญชวนประเทศสมาชิก CIRDAP ให้รับประทานข้าวเหนียวมะม่วง เพื่อตอบรับกระแสดังในอินเตอร์เนต ที่ศิลปินแร็ปเปอร์ชาวไทย "มิลลิ" ได้รับประทานข้าวเหนียวมะม่วงโชว์ในงานเทศกาลดนตรีและศิลปะชื่อดัง "โคเชลลา แวลลีย์" (Coachella Valley Music and Arts Festival) ในสหรัฐอเมริกา
ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์