นายวิรชัช เจะเหล็ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ความสำเร็จที่ได้รับรางวัลต่อเนื่องมา 2 ปีทั้งรางวัลชนะเลิศ สถาบันเกษตรกรดีเด่นฯ ประจำปี 2564 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 สถาบันเกษตรกรดีเด่นฯ ประจำปี 2563 เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของกรมประมงและเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ได้เข้ามาทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับชุมชนในการแก้ปัญหาประมงชุมชนในพื้นที่ ตามแนวคิด "อนุรักษ์เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ อนุรักษ์กินได้ อนุรักษ์มีรายได้" โดยเป็นการต่อยอดการทำงานเชิงอนุรักษ์ จนนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ทั้งการนำเอาระบบนวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำมาใช้ในพื้นที่ชุมชน การนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทนทั้งในเรื่องของโซล่าเซลล์ และกังหันลมเข้ามาผสมผสานจนเกิดเป็นระบบอนุรักษ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาทำการบริหารจัดการซั้งหรือบ้านปลาในรูปแบบหมุนเวียน เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำ ในขณะเดียวกันทางเครือซีพีได้เข้ามาสนับสนุนการแปรรูปอาหารทะเลจากสัตว์น้ำที่ชาวชุมชนสามารถหาได้ ภายใต้ชื่อ "รอยยิ้มชาวเล" ที่ได้ให้ความรู้ด้านการตลาด การค้าขายออนไลน์ ตลอดจนการบริการจัดการสินค้าจนทำให้ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
นายสุไลมาน ดาราโอะ ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า การที่ชุมชนได้รับรางวัลชนะเลิศ สถาบันเกษตรกรดีเด่น กลุ่มเกษตรกรทำการประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประจำปี 2563 ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวตำบลปะนาเระที่ได้รับรางวัลระดับประเทศในครั้งนี้รางวัลดังกล่าวเป็นผลมาจากการได้รับการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐกรมประมง และเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูประมงชายฝั่ง รวมทั้งให้องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการต่างๆ โดยนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาสร้างนวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำ เช่น ธนาคารปูม้า การวางปะการังเทียมในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ การทำแนวเขตกั้นพื้นที่ห้ามจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก สำหรับอนุบาลสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย นอกจากนี้ยังมีการสร้างร้านอวนชาวเล ซึ่งเป็นร้านขายเครื่องมือประมงโดยชาวประมงเพื่อชาวประมงที่มีโครงสร้างหน้าที่ชัดเจนและเป็นระบบ ในขณะเดียวกันได้มีการส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่ให้มีความรู้ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลเพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนในพื้นที่อีกด้วย รางวัลนี้จึงเป็นสิ่งสะท้อนการทำงานบูรณาการทุกภาคส่วน ทำให้ชุมชนประมงเล็กๆ สามารถเติบโตเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และพร้อมเป็นตัวอย่างในการทำประมงแบบยั่งยืนให้กับชุมชนอื่นต่อไป
นางสาวอรดา วงศ์อำไพวิทย์ ผู้บริหาร สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ ขอแสดงความยินดีกับชุมชนประมงเครือข่าย 2 พื้นที่ ทั้งชมรมประมงพื้นบ้านตำบลปะนาเระและสมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร ที่ได้รับรางวัลสถาบันเกษตรกรดีเด่นในปี 2563 และ 2564 โดยเครือฯ ได้ร่วมทำงานเชิงบูรณาการกับชุมชนประมงเครือข่ายทั้งชมรมประมงพื้นบ้านตำบลปะนาเระมาตั้งแต่ปี 2560 ด้วยการนำทีมงานลงภาคสนามไปทำงานกับชุมชนโดยนำองค์ความรู้ วิทยาการที่มีความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปร่วมให้คำแนะนำ พัฒนาเชิงบูรณาการด้วยการผสานภูมิปัญญาและการบริหารจัดการของชุมชนที่มีแต่เดิมร่วมกับองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้พร้อมร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไปพร้อมกับการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของ 2 ชุมชนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจของเครือซีพีที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ผ่านแนวคิดหลัก "SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน" ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเชิงบูรณาการสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน การขยายพันธุ์สัตว์น้ำ การสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยที่สมดุลแก่สัตว์น้ำ การพัฒนาและวิจัยเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการส่งเสริมศักยภาพและคุณภาพชีวิตของชุมชนประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันเครือซีพีได้ทำงานร่วมกับชุมชนกว่า 100 ชุมชนในพื้นที่ 21 จังหวัดทำให้มีประมงพื้นบ้านได้รับผลประโยชน์มีรายได้มากกว่า 5,550 ครัวเรือน ทั้งนี้เครือซีพียังมีเป้าหมายที่จะขยายความร่วมมือในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามันต่อไป
ที่มา: ซีพี