เปิดเวที "ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต" ระดมกูรู 2 วัยร่วมถก"บทบาทของคนรุ่นก่อนและรุ่นใหม่ ต่อภารกิจการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย"

จันทร์ ๒๕ เมษายน ๒๐๒๒ ๑๖:๓๓
วิกฤตคุณภาพการศึกษาฝังรากลึกยาวนานมากว่า 10 ปี เด็กไทยมีความสามารถในการเรียนรู้ต่ำลงเรื่อย ๆ ปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบที่กระทบต่อโรงเรียนทั่วประเทศ ทำให้การจัดการศึกษาไม่เป็นตัวของตัวเอง โรงเรียนไม่ตอบโจทย์ว่าเรียนไปทำไม การเรียนรู้ในโรงเรียนไม่เชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริง
เปิดเวที ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต ระดมกูรู 2 วัยร่วมถกบทบาทของคนรุ่นก่อนและรุ่นใหม่ ต่อภารกิจการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP - Thailand Education Partnership) ผนึกภาคีด้านการศึกษา องค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคสังคม เปิดเวทีสาธารณะระดับประเทศ TEP Forum 2022 "ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต" โดยในวันสุดท้ายของการจัดงานได้มีการจัดเสวนาในประเด็น "บทบาทของคนรุ่นก่อนและรุ่นใหม่ ต่อภารกิจการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย" โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ในหลากหลายบทบาท

ทั้งรุ่นก่อน และรุ่นใหม่ ร่วมนำเสนอแนวคิดในมุมมองที่น่าสนใจ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาไทยให้
ก้าวทันโลกในทุกมิติ

เปิดเวทีด้วยมุมมองของอดีตนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน ร่วมเปิดประเด็นเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันว่า
"ปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทยคือ การมีโครงสร้างแบบราชการที่มีกฎเกณฑ์มากมาย หากจะปฏิรูปการศึกษาจริง ๆ ต้องลงลึกไปถึงรากถึงโคนเลย ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับการศึกษา ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลต้องเปิดใจให้กว้าง ไม่ผูกขาดอำนาจ ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน การศึกษาไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่การศึกษาเป็นเรื่องของสังคม เพราะผู้ที่เข้ารับการศึกษาเป็นลูกหลานของคนในสังคม ครูก็ควรจะเป็นครูของสังคม ไม่ใช่ครูของระบบราชการ การเรียนการสอนต้องทำให้เด็กหรือนักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีทักษะการดำรงชีวิตที่ดีในสังคม ครูต้องสอนเนื้อหาให้น้อยลง พูดคุยกับนักเรียนมากขึ้น ระบบการศึกษาที่ดีต้องปล่อยให้เด็กคิดอย่างเสรี กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการ ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง ต้องปรับเปลี่ยน Mindset หรือกระบวนการคิด เพื่อให้อนาคตการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น"

ทางด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบาทของการปฏิรูปการศึกษาไทยว่า "การปฏิรูปการศึกษาไทยต้องไม่ใช่การที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นความร่วมมือของหลาย ๆ ฝ่าย เพื่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง รวมถึงการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาของระบบการศึกษาไทย เนื่องจากคนรุ่นใหม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ต้องให้พื้นที่คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ ด้วยการทำใจให้เป็นกลางและเปิดใจกว้าง ๆ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าแผนการศึกษาทำไว้สำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้น คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วม ควบคู่ไปกับการนำปัญญาของคนรุ่นเก่ามาผสมผสานกับความต้องการของคนรุ่นใหม่เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาไทยให้ก้าวทันโลก"

หนึ่งในคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่น่าจับตามากของยุคนี้ เคน - นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ อดีตนักศึกษาคณะ เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ ซึ่งปัจจุบันนั่งแท่น กรรมการผู้จัดการและบรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว THE STANDARD ร่วมแชร์มุมมองบทบาทของครูและโรงเรียนที่ต้องปรับเปลี่ยนในโลกยุคดิจิทัลไว้อย่างน่าสนใจว่า "ในอดีตที่ผ่านมา โรงเรียนและครูมีหน้าที่ในการให้ข้อมูล ให้ความรู้ เพราะยังไม่มีการกระจายความรู้ออกไป แต่พอเกิดเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตทำให้ความรู้ถูกกระจายออกไป ระบบการศึกษาในปัจจุบันจึงไม่ได้มีเพียงแค่โรงเรียนหรือครูเท่านั้นที่เป็นเจ้าของความรู้ แต่มีผู้ที่มีความรู้มากกว่าครูมากมาย เช่น วิศวกร สถาปนิกที่ทำงานแบบมืออาชีพ โดยสิ่งสำคัญที่อยากชี้ให้เห็นคือ ความรู้หลังจากนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความรู้ไม่ได้กระจุกอยู่กับใคร ผมมองว่าการศึกษาต้องปรับบทบาทให้สอดคล้องกับบริบทของโลกในยุคปัจจุบันและอนาคตที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลและความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล อันดับแรก คือ โรงเรียนและครูซึ่งเป็นผู้ให้ความรู้จำเป็นจะต้องเปลี่ยนบทบาทการสอนในรูปแบบ

Learn how to learn คือ ไม่ควรให้ปลา แต่ควรให้เบ็ดตกปลาและสอนให้รู้จักวิธีตกปลา ต้องกระตุ้นให้เด็กสงสัยและตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลาและพัฒนาตนเอง นี่คือกระดุมเม็ดแรกหรือจุดเริ่มต้นแรก ถ้าเราอยากที่จะเรียนรู้ สิ่งอื่นๆ จะตามมาเอง อันนี้ผมว่าเป็นทักษะสำคัญมากในโลกอนาคต อันดับที่ 2 ต้องให้ความสำคัญกับการสอนที่ต้องมีการทดลองทำจริง โดยโรงเรียนควรเป็น Sandbox หรือเป็นพื้นที่ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยการทดลองปฏิบัติจริง ครูควรเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง จากการเป็นผู้ให้ความรู้ มาเป็นผู้อำนวยความสะดวก และกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจที่จะเรียนรู้ โรงเรียนต้องทำให้ความอยากรู้สำคัญกว่าความรู้ให้ได้ และอันดับที่ 3 โรงเรียนต้องเป็นสนามทดลองการเรียนรู้ของการอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องมีกติกาที่ทำให้ทุกคนรู้ว่านี่คือสังคมที่ควรจะเป็น เคารพสิทธิ เปิดกว้างทางความคิด ผมเชื่อว่าถ้าปรับเป็น 3 บทบาทนี้ได้ โรงเรียนและครูยังมีความจำเป็นในระบบการศึกษาของไทยอย่างแน่นอน"

ปิดท้ายกันที่ ไอติม - พริษฐ์ วัชรสินธุ ในบทบาทของผู้ก่อตั้ง แอปพลิเคชันด้านการศึกษา StartDee ร่วมแบ่งปันไอเดียและถกประเด็นปัญหาในระบบการศึกษาไทยว่า "โจทย์สำคัญของการศึกษาไทยคือ ทำอย่างไรให้การศึกษามีความหมาย และเกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่ โดยต้องทำให้เด็กหรือผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าไปโรงเรียนแล้วทำให้ได้รับทักษะที่จะทำให้เขามีโอกาสประสบความสำเร็จในอนาคต ทำให้พวกเขารู้ว่าไปโรงเรียนแล้วสามารถได้สิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น ซึ่งคำตอบเปลี่ยนไปทุกยุคทุกสมัย เพราะฉะนั้นระบบการศึกษาไทยต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในยุคนั้น ๆ

การที่เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทยได้ ต้องเริ่มจาก 1. เปลี่ยนจากการอัดฉีดความรู้ เป็นการเน้นพัฒนาทักษะสมรรถนะ การคิดวิเคราะห์ การสื่อการ การทำงานเป็นทีมด้วยวิธีสอนรูปแบบใหม่และให้เด็กกล้าลองผิดลองถูก 2. เปลี่ยนรูปแบบการสอน จาก One size fits all มาเป็นแบบ Personalize ที่มีความเฉพาะเจาะจง 3. การศึกษาต้องไม่บั่นทอนการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อให้เด็กมีเวลาที่จะค้นพบตัวเอง 4. บทบาทของโรงเรียนต้องไม่ใช่แค่พัฒนาการเรียนเท่านั้น แต่ต้องส่งเสริมการพัฒนาแบบองค์รวม ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ 5. โรงเรียนต้องไม่ใช่สูญญากาศที่ตัดขาดจากสังคม แต่โรงเรียนต้องเป็นภาพจำลองของสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคม และ 6. เปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการแบบศูนย์รวมอำนาจ เป็นการกระจายอำนาจ ต้องทำให้โรงเรียนมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น เช่น จะใช้งบประมาณแบบไหน จะจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้มีความหมายกับนักเรียนในพื้นที่นั้น ๆ ได้มากขึ้น"

เสียงสะท้อนความคิดเห็นหลากหลายแง่มุม เห็นตรงกันว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคนในสังคมที่จะต้อง ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมปรับเปลี่ยน ร่วมกันเป็นพลังขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลง "ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต" เพื่อให้การศึกษาไทยก้าวทันโลก เด็กและเยาวชนไทยได้รับการศึกษาที่ดี พร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต

ที่มา: มิกซ์ แอนด์ แมทซ์ คอมมิวนิเคชั่นส์

เปิดเวที ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต ระดมกูรู 2 วัยร่วมถกบทบาทของคนรุ่นก่อนและรุ่นใหม่ ต่อภารกิจการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย