ม.มหิดล วิจัยยาใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เตรียมผลักดันสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ลดภาระค่ายาประชาชนคนไทย

อังคาร ๒๖ เมษายน ๒๐๒๒ ๑๕:๕๓
แม้ว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่และใฝ่ฝันสำหรับทุกสถาบันอุดมศึกษาไทย คือ การได้ก้าวขึ้นสู่มหาวิทยาลัยอันดับโลก แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ การสร้างองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติ
ม.มหิดล วิจัยยาใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เตรียมผลักดันสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ลดภาระค่ายาประชาชนคนไทย

เป็นที่น่ายินดีที่เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ประกาศรายชื่อมหาวิทยาลัยไทยที่สามารถก้าวขึ้นสู่มหาวิทยาลัยอันดับโลก จากการจัดอันดับ QS World University Rankings 2022 โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ติดอันดับ Top100 สาขาวิชาด้านเภสัชกรรมและเภสัชวิทยา

ความสำเร็จดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพงานวิจัย และการเรียนการสอนที่ดี การมีปริมาณงานวิจัยจำนวนมาก และรวมไปถึงความเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการจากทั่วโลก ในสาขาวิชาด้านเภสัชกรรมและเภสัชวิทยา ในภาพรวมของมหาวิทยาลัย

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ เบื้องหลังของความสำเร็จอันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศดังกล่าว หนึ่งในผลงานโดดเด่นล่าสุด ซึ่งมีส่วนผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถก้าวขึ้นสู่ Top100 มหาวิทยาลัยอันดับโลก QS World University Rankings 2022 สาขาวิชาด้านเภสัชกรรมและเภสัชวิทยา ได้แก่งานวิจัยที่สามารถแก้ไขปัญหาทางด้านสาธารณสุขเรื่องการเข้าถึงยาใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะของไทย

รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเจ้าของผลงานวิจัย เรื่อง "การเปรียบเทียบประสิทธิผล และความปลอดภัยของยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดกินรุ่นใหม่ กับยาวาร์ฟาริน ในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยอาศัยข้อมูลจากการใช้จริงในระบบสุขภาพ" (Real-World Comparative Effectiveness and Safety of Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants vs. Warfarin in a Developing Country) ซึ่งสามารถคว้ารางวัลระดับโลก"Nagai Award Thailand 2021" จาก The Nagai Foundation Tokyo ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเร็วๆ นี้ คือ ความหวังของผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะของไทย ในการเข้าถึงยาใหม่

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายประเภท แต่ประเภทที่พบบ่อยที่สุดในประชากรทั่วโลก รวมถึงประชากรไทยด้วย คือ ภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ โดยมีลักษณะที่สั่นพลิ้ว ขาดการบีบตัวที่ดี ทำให้การไหลเวียนเลือดในหัวใจไม่ดี และนำไปสู่การเกิดก้อนเลือดในหัวใจ

ก้อนเลือดดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้น อาจหลุดขึ้นไปอุดตันหลอดเลือดที่สมองแบบเฉียบพลันและรุนแรง และทำให้เนื้อสมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เกิดอัมพาต หรืออัมพฤกษ์ได้

ด้วยเหตุนี้วิธีการหนึ่งในการรักษาภาวะดังกล่าว คือ การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดก้อนเลือดอุดตันในสมอง

ในอดีตยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ "วาร์ฟาริน" (Warfarin) อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวมีปัญหาในการใช้ค่อนข้างมาก การควบคุมระดับการแข็งตัวของเลือดให้เหมาะสมตลอดเวลาทำได้ยาก และมีข้อเสียที่สำคัญ คือ พบอาการข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงจากการทำให้เกิดเลือดออกได้โดยเฉพาะเมื่อควบคุมการใช้ยาได้ไม่ดีพอ

ด้วยความสนใจในการศึกษายารักษาโรคหัวใจอยู่แล้ว รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ นาฑีสุวรรณ ได้ศึกษาต่อยอดถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า "Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants" ซึ่งยังไม่มีการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นคนไทยมาก่อน โดยเปรียบเทียบกับยาเก่า "วาร์ฟาริน" (Warfarin) ที่ใช้ต้านการแข็งตัวของเลือด และลดการเกิดก้อนเลือด แต่มีข้อเสีย คือ มักพบอาการข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงจากการทำให้เกิดเลือดออกได้

กรณีที่พบบ่อยมากที่สุดของผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะคือ การที่ผู้ป่วยต้องกลายเป็นอัมพฤกษ์ และอัมพาต จากการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ แล้วทำให้เลือดในหัวใจไหลไม่ดี จนเกิดก้อนเลือดขึ้น และไหลตามกระแสเลือดจากหัวใจขึ้นไปอุดตันในสมอง

"Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants" เป็นยากลุ่มใหม่ที่แม้อาจมีราคาที่สูงกว่าและในปัจจุบันยังใช้สิทธิเบิกจ่ายไม่ได้ แต่จากผลการวิจัยกับผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะไทยกว่า 2,000 ราย พบว่ายาใหม่เหล่านี้มีอัตราการเกิดผลข้างเคียงที่น้อยกว่ายา "วาร์ฟาริน" (Warfarin)  อย่างมาก ช่วยลดอัตราการเกิดเลือดออกได้สูงถึงร้อยละ 50 - 70

นอกจากนี้พบว่า "Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants" มีประสิทธิภาพที่ดีกว่ายา "วาร์ฟาริน" (Warfarin) ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยา "วาร์ฟาริน" (Warfarin) แต่ควบคุมระดับการแข็งตัวของเลือดได้ไม่ดีพอ

ด้วยเหตุนี้ยากลุ่ม "Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants"  จึงควรค่าต่อการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อที่จะทำให้ประชาชนคนไทย ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ก็สามารถที่จะเข้าถึงยาใหม่นี้ได้

"การที่งานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่อเสียง ไม่สำคัญเท่าการได้เห็นงานวิจัยที่ทำนั้นมีประโยชน์ต่อสังคม ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถทำให้สังคมได้เห็นว่างานวิจัยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเพียงใด ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมสนับสนุนงานวิจัยที่มีประโยชน์ ให้เจริญเติบโตต่อไปมากขึ้นเรื่อยๆ" รองศาสตราจารย์ เภสัชกรสุรกิจ นาฑีสุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version