นางกาญจนา เหลารัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โพลีเน็ต จำกัด (มหาชน) หรือ POLY เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าเข้ามาระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของบริษัทในการเติบโตอย่างยั่งยืน ในฐานะผู้ผลิตชั้นนำในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ ยาง พลาสติก ซิลิโคน และแม่พิมพ์สำหรับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน การขยายธุรกิจ และโอกาสการเติบโตในอนาคต โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในครั้งนี้
วัตถุประสงค์การระดมทุนในครั้งนี้ สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ และใช้สำหรับลงทุนในโครงการขยายโรงงานและลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม รวมทั้ง ใช้จ่ายคืนหนี้สินเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับที่ปรึกษาทางการเงิน และ/หรือผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
ทั้งนี้ POLY เป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทยาง พลาสติก และซิลิโคนขึ้นรูปตามความต้องการของลูกค้า โดยกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทฯ ประกอบด้วย 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ (Automotive) ซึ่งโดยส่วนใหญ่ใช้ทั้งในรถยนต์สันดาปและรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ท่อยางอากาศ ยางกันฝุ่น ยางกันสั่นสะเทือน ยางกันกระแทก ท่อร้อยสายไฟ และยางขอบกระจก เป็นต้น (2) อุตสาหกรรมการเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical) เช่น ปลอกซิลิโคน วาล์วซิลิโคน ท่อซิลิโคน สายช่วยหายใจ ที่สอดจมูกช่วยหายใจ ตัวนำอสุจิ หน้ากากออกซิเจน ถ้วยอนามัย รวมถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับช่วยในการผ่าตัดต่างๆ เป็นต้น โดยมุ่งเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการรักษา (3) อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) เช่น ถุงซิลิโคนใส่อาหาร ซีลยางบรรจุภัณฑ์ และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ชิ้นส่วนซิลิโคนกันความร้อน (Silicone Cap Heater) จุกยางระบายไอน้ำหม้อหุงข้าว เป็นต้น
ทั้งนี้ POLY มีการดำเนินธุรกิจในรูปแบบครบวงจร (One-Stop Services) ตั้งแต่การออกแบบผลิตแม่พิมพ์ คิดค้นพัฒนาสูตรการผลิต ตลอดจนการขึ้นรูปชิ้นงาน โดยมุ่งหวังการตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบถ้วนทุกความต้องการ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้จากอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง อีกทั้ง มีแนวทางการขยายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมอื่นที่กำลังเติบโตและมีอุปสงค์ต่อสินค้าในอุตสาหกรรมนั้นสูง จึงทำให้บริษัทเริ่มขยายธุรกิจมาทางด้านการผลิตขึ้นรูปสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์และสินค้าอุปโภคบริโภคที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรม โดยมุ่งหวังที่จะขยายสัดส่วนรายได้ของทั้งสองอุตสาหกรรมดังกล่าวให้ทัดเทียมกับสัดส่วนรายได้ของอุตสาหกรรมยานยนต์ จากแนวโน้มการเติบโตดังกล่าว POLY จึงเข้ามาระดมทุนเพื่อรองรับโอกาสในครั้งนี้
นางสาวสุวิมล ศรีโสภาจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ขณะนี้ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ของบริษัท โพลีเน็ต จำกัด (มหาชน) เพื่อประกอบการยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) จำนวน 120,000,000 หุ้น หรือคิดเป็น 26.7% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในหมวดธุรกิจ ยานยนต์ (AUTO)
ปัจจุบัน POLY มีทุนจดทะเบียน 450,000,000 บาท คิดเป็น จำนวน 450,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท/หุ้น เป็นทุนเรียกชำระแล้ว 330,000,000 บาท สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ POLY ณ วันที่ 30 มีนาคม 2565 ถือหุ้นโดยครอบครัวเหลารัตนา มีสัดส่วนก่อน IPO 99.4% และสัดส่วนหลัง IPO 72.9%
ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 - 2564) บริษัทฯ มีรายได้รวม 581.7 ล้านบาท 523.2 ล้านบาท และ 787.1 ล้านบาทตามลำดับ โดยบริษัทฯ มีรายได้ลดลงในปี 2563 เนื่องจากภาคการผลิตรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และได้ปรับกลยุทธ์ในด้านกำลังการผลิตใหม่ เพื่อขยายธุรกิจเข้าสู่กลุ่มอุปกรณ์การแพทย์และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง ส่งผลให้ในปี 2564 POLY มีรายได้จากการขายเติบโตเพิ่มขึ้น 263.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 50.4% เมื่อเทียบกับปี 2563 นอกจากนี้สินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ก็เติบโตขึ้นเช่นกันจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนใหม่ให้แก่ลูกค้า โดยสัดส่วนรายได้หลัก ณ สิ้นปี 2564 มาจากกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ 61.5% กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 25.2% และกลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ 13.2%
และจากการปรับกลยุทธ์เพื่อขยายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาส ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรที่โดดเด่น โดยมีกำไรสุทธิในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 - 2564) อยู่ที่ 13.1 ล้านบาท 21.8 ล้านบาท และ 120.9 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์และอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้ง การใช้กำลังการผลิตโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่งผลให้เกิดการประหยัดต่อขนาดและลดต้นทุนคงที่ต่อหน่วย (Economy of scale) และมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้จากการขายลดลง สำหรับอัตราส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 17.7% 19.2% และ 28.3% อัตรากำไรสุทธิ 2.3% 4.2% และ 15.4% ตามลำดับ
ที่มา: ไออาร์ พลัส