นางสาวสุวรรณี สุวรรณแสงโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ตาชำนิ จำกัด (มหาชน) หรือ CEYE กล่าวว่า บริษัทฯ พร้อมเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 29 เมษายน 2565 นี้ โดยใช้ชื่อย่อ 'CEYE' ในการซื้อขายหลักทรัพย์ และเชื่อมั่นด้วยศักยภาพของบริษัทฯ ที่วางกลยุทธ์ขยายบริการแบบ One stop services creative and production solution ที่มีความต้องการคู่ขนานไปกับภาพรวมการใช้เม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาและโอกาสจากการขยายไปยังอุตสาหกรรมบันเทิง เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ซึ่งถือเป็นเมกะเทรนด์แห่งอนาคต นอกจากนี้ บริษัทฯ มุ่งเน้นขยายบริการใหม่ๆ เพื่อสอดรับสังคมในยุคดิจิทัล รวมทั้ง มีธุรกิจสตูดิโอที่บริหารงานโดยบริษัท ไม้ยืนต้น จำกัด ทำให้ CEYE เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมครีเอทีฟและโปรดักชั่นโฆษณาที่ครบวงจร
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โควิดที่ผ่อนคลายลงมาก สนับสนุนให้ปริมาณงานจากลูกค้าเพิ่มขึ้นจึงมองแนวโน้มผลงานไตรมาส 1/65 คาดจะมีการเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 4/64 ที่ผ่านมา และล่าสุด รัฐบาลประกาศยกเลิก Test & Go มีผล 1 พฤษภาคมนี้ คาดจะสนับสนุนภาพรวมเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศให้กลับมาคึกคักมากกว่าเดิม เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ลูกค้าแบรนด์ชั้นนำต่างๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ มีการจัดกิจกรรม โปรโมทสินค้า และการสร้างแบรนด์ จึงมั่นใจ เป้าหมายผลการดำเนินงานปี 65 คาดว่าจะกลับมาเติบโตสูงกว่าระดับปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 โดยในปี 62 มีรายได้รวม 311.74 ล้านบาท กำไรสุทธิ 38.57 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานล่าสุด ณ สิ้นปี 64 บริษัทฯ มีรายได้รวม 272.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.53% และมีกำไรสุทธิ 28.45 ล้านบาท เติบโต 101.89% จากปีก่อน
นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า CEYE มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และจุดเด่นจากความเชี่ยวชาญของผู้บริหารในอุตสาหกรรมมากกว่า 30 ปี ไม่หยุดนิ่งในการขยายบริการให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้าจากจุดเริ่มต้นในธุรกิจให้บริการผลิตภาพนิ่งสำหรับสื่อโฆษณาเป็นสัดส่วนรายได้หลักเพียงธุรกิจเดียว ในช่วง 5 ปีก่อนจึงได้เริ่มต่อยอดมายังบริการผลิตวีดีโอ เพื่อนำเสนอคอนเทนต์โฆษณาในช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น และสามารถสร้างยอดขายให้เติบโตต่อเนื่องในทุกปี แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดย ณ สิ้นปี 64 CEYE มีสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจให้บริการผลิตภาพนิ่ง 50.07% บริการผลิตภาพเคลื่อนไหว 26.73% บริการตกแต่งภาพด้วยคอมพิวเตอร์ 11.50% บริการให้เช่าสตูดิโอ 3.82% และบริการอื่นๆ รวมประมาณ 5.50% ได้แก่ ธุรกิจผลิตสื่อออนไลน์ และการบริหารสื่อออนไลน์ ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาเสริมรายได้ในระยะยาว
อย่างไรก็ดี ในยุคหลังโควิด-19 ความต้องการงานครีเอฟทีฟคอนเทนต์โฆษณากลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้บริษัทฯ พร้อมเก็บเกี่ยวงานโปรดักชั่นได้อย่างเต็มที่ และนอกจากนี้ CEYE ได้วางแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ขยายอาคารสำนักงานแห่งใหม่ ลงทุนในอุปกรณ์การผลิต และโครงการในอนาคต เพื่อเข้าสู่ธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ สนับสนุนโอกาสให้ CEYE เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในการเข้าซื้อขายวันแรก และในอนาคต
นายกิตติพันธ์ ภูษณวรรณ กรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้น IPO ของ CEYE ในช่วงที่ผ่านมา จำนวน 70 ล้านหุ้น ในราคาเสนอขาย 3.86 บาท/หุ้น ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเกินกว่าคาดหมาย ตอกย้ำถึงศักยภาพและความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ ทางด้าน นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำรวม 4 บริษัทหลักทรัพย์ จัดทำบทวิเคราะห์และประเมินกรอบราคาเหมาะสมของ CEYE อยู่ในกรอบที่ 4.20 - 4.60 บาทต่อหุ้น ซึ่งยังไม่นับรวมโอกาสการเติบโตที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ ในอนาคต
โดย บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ระบุ ประเด็นสำคัญในการลงทุนของ CEYE จากแนวโน้มปี 2565 อุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์และโฆษณาดิจิทัลยังเติบโตต่อเนื่อง โดย นีลเส็น ประเทศไทย คาดว่าสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ยังมีอิทธิพลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการใช้จ่ายของแบรนด์ต่าง ๆ เนื่องจากเป็นสื่อที่ยังมีอิทธิพลในการจับจ่ายของผู้บริโภค แม้ว่าการรับชมรายการสดทางโทรทัศน์มีแนวโน้มลดลงแต่มีการรับชมย้อนหลังและการรับชมรายการสดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ยังมีความต้องการบริการถ่ายภาพนิ่ง ตกแต่งภาพ และถ่ายภาพเคลื่อนไหวในการผลิตสื่อโฆษณา
โดยคาดอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ของกำไรสุทธิระหว่างปี 62 - 65 อยู่ที่ 15% ต่อปี ฝ่ายวิจัยประเมินรายได้จากการให้บริการในปี 65 ราว 362 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YOY) โดยมีสัญญาณรายได้พลิกกลับดีขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/64 ที่มีการเปิดเมืองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนของปีก่อน ทำให้มีความต้องการผลิตสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์มากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ทั้งธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม โทรศัพท์เคลื่อนที่ ค่ายรถยนต์ ธนาคาร ฯลฯ และคาดว่ารายได้บริการอื่นด้านออนไลน์มีเดียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามการใช้เงินโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ ด้วยสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) 29.2% ใกล้เคียงกับระดับ 29.6% ในช่วงไตรมาส 4/64 และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้รวมที่ระดับ 8.9% ลดลงจาก 11% ในปี 2564 ส่งผลให้ประมาณการกำไรในปี 65 เท่ากับ 58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YOY) โดยคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 15% ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ระหว่างปี 2562-2565 เท่ากับ 15% ต่อปี
ประเมินราคาเหมาะสมในปี 2565 ที่ราว 4.54 บาทต่อหุ้น ด้วยวิธี PER โดยใช้ Prospective PER ที่ระดับ 21 เท่า เมื่อเทียบกับหุ้นที่ประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกันในกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ (ตลาด SET) ที่ระดับ 47.34 เท่า และกลุ่มบริการ (ตลาด mai) ที่ระดับ 35.49 เท่า และประมาณกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2565 ราว 0.216 บาทต่อหุ้น คำนวณเป็นราคาเหมาะสมเท่ากับ 4.54 บาทสำหรับปี 2565
ที่มา: ไออาร์ พลัส