การคงอันดับเครดิต และแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าผลการดำเนินงานของ KCE จะยังคงแข็งแกร่ง สอดคล้องกับความต้องการแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโต ประกอบกับอัตราส่วนหนี้สินขณะนี้ที่อยู่ในระดับที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ KCE มีความสามารถในการรองรับแผนการลงทุนขนาดใหญ่สำหรับการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเขตอุตสาหกรรมโรจนะ ในประเทศไทย (โครงการโรจนะ) ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) ของ KCE จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 1.5 เท่า ณ สิ้นปี 2566 จากระดับ 0.5 เท่า ณ สิ้นปี 2564 โดยอัตราส่วนดังกล่าวน่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1.2 เท่า ณ สิ้นปี 2567 โดยรวมแผนการลงทุนโครงการโรจนะเฟสหนึ่ง
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ช่วงขยายการลงทุน - KCE ได้มีการลงทุนขยายกำลังการผลิตตั้งแต่ปี 2564 เพื่อตอบรองรับความต้องการแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะเติบโตในอนาคต โดยค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 1.7 หมื่นล้านบาทในปี 2564 (332 ล้านบาทในปี 2563) โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนสำหรับขยายกำลังการผลิตที่โรงงานเดิมที่ลาดกระบังและอยุธยา จำนวน 6 แสนตารางฟุตต่อเดือน ส่วนโครงการโรจนะเป็นโครงการก่อสร้างโรงงานใหม่ แบ่งออกเป็นสามเฟส กำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 3 ล้านตารางฟุตต่อเดือน (1 ล้านตารางฟุตต่อเดือนสำหรับแต่ละเฟส)
ณ ขณะนี้ งบประมาณเงินลงทุนยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ฟิทช์ได้มีการพิจารณารวมเงินลงทุนตามแผนเบื้องต้นสำหรับการก่อสร้างอาคารโรงงานและเครื่องจักรของเฟส 1 จำนวนประมาณ 6.5 พันล้านบาท ที่คาดว่าจะใช้ในปี 2565-2566 KCE กล่าวว่าแผนการลงทุนในส่วนของเครื่องจักรของเฟส 2 และ 3 ซึ่งเบื้องต้นจะอยู่ที่ประมาณ 5.5 พันล้านบาท มีความยืดหยุ่นและสามารถเลื่อนการลงทุนออกไปได้ในกรณีที่ความต้องการซื้อสินค้าอ่อนแอกว่าที่คาด ฟิทช์จึงมิได้รวมเงินลงทุนในส่วนนี้ในประมาณการ เนื่องจากความไม่แน่นอนของแผนการลงทุนดังกล่าว
อัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้นชั่วคราว - ฟิทช์คาดว่าNet Debt/EBITDA ของ KCE จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 1.1 เท่า ณ สิ้นปี 2565 และ 1.6 เท่า ณ สิ้นปี 2566 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.2 เท่า ณ สิ้นปี 2567 โดยการลดอัตราส่วนหนี้สินได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของโรงงานเดิมที่แข็งแกร่ง และการเพิ่มขึ้นของการใช้กำลังการผลิตของโครงการโรจนะ KCE สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ โดยมีเงินสดเกือบเท่ากับหนี้สิน ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีความสามารถในการรองรับแผนการลงทุนที่สูงในช่วงปี 2564-2566 ฟิทช์เชื่อว่า KCE จะสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เพียงพอ สำหรับการลงทุนขยายกำลังผลิตโครงการโรจนะในเฟสต่อไปในอนาคต โดยที่ยังรักษาNet Debt/EBITDA ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่าในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า
กำไรเพิ่มขึ้นจากความต้องการซื้อที่แข็งแกร่ง - ฟิทช์คาดว่ารายได้และ EBITDA ของ KCE จะเติบโตประมาณร้อยละ 20-25 ในปี 2565 จากความต้องการซื้อแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่แข็งแกร่งและกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในปี 2564 โครงการโรจนะ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 น่าจะช่วยให้กำไรของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ KCE จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.5 พันล้านบาทในปี 2567 จาก 3.4 พันล้านบาทในปี 2564 การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ที่น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่องของความต้องการซื้อในอนาคต
ผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรฯ รถยนต์รายใหญ่ - อันดับเครดิตของ KCE สะท้อนถึงการเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีวงจรสินค้าที่ค่อนข้างยาว และต้องอาศัยความผูกพันกับลูกค้าในการได้มาซึ่งยอดขาย ทำให้เป็นธุรกิจที่มีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม (High Barrier to Entry) เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสินค้าบริโภคทั่วไป (Consumer Electronics) KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรสำหรับยานยนต์รายใหญ่ของโลก โดยมีส่วนแบ่งด้านรายได้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-5
การกระจุกตัวของรายได้ที่ลดลง - ความพยายามของ KCE ที่จะเพิ่มสัดส่วนสินค้า HDI ซึ่งรวมถึงสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่รถยนต์ จะช่วยลดการกระจุกตัวของรายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในอนาคต โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้จากการขายแผ่นพิมพ์วงจรจากลูกค้ารายใหญ่ 5 รายแรกที่ประมาณร้อยละ 50 ในปี 2564 ซึ่งลดลงจากประมาณร้อยละ 65 ในปี 2553
อัตรากำไรที่มีความอ่อนไหวต่อค่าเงินบาท - ธุรกิจของ KCE มีความเสี่ยงสูงจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งส่งผลให้อัตรากำไรมีความผันผวน โดยในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ส่งออก รายได้และกำไรจะลดเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากประมาณร้อยละ 80-90 ของรายได้ อยู่ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโร ในขณะที่ร้อยละ 40-60 ของต้นทุนอยู่ในรูปเงินบาท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
KCE มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่บริษัทฯ มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า สถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของ KCE มีความใกล้เคียงกันกับของ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (PTL, อันดับเครดิต A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) PTL เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดในโลกตามรายได้ PTL ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงกว่า โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นแผ่นฟิล์มมาตรฐาน ซึ่งมีความผันผวนด้านราคา และมีการแข่งขันที่สูง ในขณะที่ KCE เน้นผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม PTL มีการกระจายตัวของฐานการผลิตและลูกค้าที่มากกว่า บริษัททั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า ดังนั้นอันดับเครดิตจึงอยู่ในระดับเดียวกัน
บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EPG, อันดับเครดิต A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ KCE ต่างมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ขายสินค้าคนละชนิด EPG เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถกระบะและรถเอนกประสงค์ที่ทำจากโพลีเมอร์และพลาสติก ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมด EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจและลูกค้าที่มากกว่า โดย EPG มีการกระจายรายได้จากการผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็นและผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม KCE และ EPG มีขนาดธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน แต่ KCE มี EBITDA Margin และ Free cash flow margin ที่สูงกว่า ด้วยสถานะทางธุรกิจที่เทียบเคียงกันและอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียว อันดับเครดิตของทั้งสองบริษัทจึงเท่ากัน
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 20-25 ในปี 2565 (ปี 2564 เติบโตร้อยละ 30) จากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อแผ่นพิมพ์วงจรฯ ในทุกอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตส่วนเพิ่ม รายได้เติบโตที่ระดับร้อยละ 15-20 ต่อปี ในปี 2566-2567 ได้รับการสนับสนุนจากแนวโน้มการเติบโตของความต้องการซื้อสินค้าและกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจาก โครงการโรจนะ
- อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ยังคงอยู่ในระดับเดิมที่ร้อยละ 21-22 ในปี 2565-2567 (ปี 2564 ร้อยละ 22.4) แม้ว่าราคาทองแดงยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากบริษัทมีความสามารถที่จะขึ้นราคาขายสินค้าได้ อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ดีขึ้น และการเพิ่มสัดส่วนการผลิตแผ่นพิมพ์วงจร HDI ที่มีอัตรากำไรสูง
- แผนการใช้จ่ายลงทุนที่สูงสำหรับโครงการโรจนะและการปรับปรุงด้านเทคโนโลยี จำนวน 8 พันล้านบาท ในปี 2565-2567 (ปี 2564 จำนวน 1.7 พันล้านบาท) ซึ่งรวมเงินลงทุนตามแผนเบื้องต้นสำหรับการก่อสร้างอาคารโรงงานและเครื่องจักรของเฟส 1
- อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ในระดับสูงที่ประมาณร้อยละ 80 ในปีงบการเงิน 2565-2567 (ปี 2564 ร้อยละ 78)
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก
- KCE สามารถขยายขนาดธุรกิจและเพิ่มการกระจายตัวของลูกค้า โดยยังคงรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ต่ำกว่า 2.0 เท่า อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยลบ
- กระแสเงินสดที่ต่ำกว่าที่คาด หรือเงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาด หรือมีการซื้อกิจการ ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- EBITDA Margin ต่ำกว่าร้อยละ 13 อย่างต่อเนื่อง
- สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง หรือการสูญเสียลูกค้ารายสำคัญ
สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ - ณ สิ้นปี 2564 KCE มีหนี้ทั้งหมดที่ 3.7 พันล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีจำนวน 2.5 พันล้านบาท โดยหนี้ระยะสั้นดังกล่าวส่วนใหญ่ประกอบด้วยหนี้เพื่อสนับสนุนการส่งออก สภาพคล่องของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 2.0 พันล้านบาท และมีสภาพคล่องเสริมจากวงเงินกู้หมุนเวียนที่ยกเลิกได้ (uncommitted facilities) จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท และ 81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2564 เงินลงทุนสำหรับการขยายกำลังการผลิต น่าจะได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและวงเงินกู้จากสถาบันการเงินบางส่วน
ข้อมูลบริษัท
KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรสำหรับยานยนต์รายใหญ่ของโลก โดยรายได้จากแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์คิดเป็นร้อยละ 80 ของรายได้แผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของบริษัท KCE ส่งออกแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ไปทั่วโลก โดยสัดส่วนรายได้ในปี 2564 ได้แก่ ร้อยละ 44 จากทวีปยุโรป ร้อยละ 18 จากทวีปอเมริกา และร้อยละ 37 จากทวีปเอเชีย
ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์