ในเชิงกลยุทธ์ เรายังคงแนะนำให้ใช้กลยุทธ์ตั้งรับ และชะลอการลงทุนจนกว่าดัชนี SET จะย่อลงมาจนมีความน่าสนใจทางด้าน Valuation มากขึ้น หลังจากที่ตอนนี้ Earning yield gap ของ SET Index ปรับลดลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ระดับ -2SD และ -1SD แล้ว หากใช้ Bond yield สหรัฐฯและ Bond yield ของไทยในการคำนวณตามลำดับ (รูปที่ 1-2) บ่งชี้ถึงความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ประเมินแนวรับแรกของดัชนีในเดือนนี้ที่ 1630 จุด ส่วนแนวรับสำคัญ มองไปยังระดับ Low เดิมที่ 1580-1600 จุด
นายณัฐชาต กล่าวต่อว่า มองปัจจัยเสี่ยงที่อาจผลักดันให้เกิดการปรับฐานของดัชนี SET ในเดือนนี้ ได้แก่
- การขึ้นราคาน้ำมันดีเซล จะส่งผลให้ธุรกิจต่างๆมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งการส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวมายังผู้บริโภคนั้น ก็จะทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลงไปด้วย มองปัจจัยนี้จะทำให้ Downside risk ของระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น โดยเฉพาะภาค Domestic demand
- ปัจจัยราคาดีเซลที่ขยับขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้เงินเฟ้อในประเทศปรับตัวสูงขึ้นได้อีก ซึ่ง SET มักให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบเสมอที่ระดับเงินเฟ้อสูงกว่า 5% ขึ้นไป
- ความเป็นไปได้ที่นักวิเคราะห์จะเริ่มออกมาหั่นประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนลง จากระดับต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น รวมถึงอุปสงค์ภายในที่อ่อนแอลง เมื่อมาประกอบกับ Bond yield สหรัฐฯและไทยที่อยู่สูง คาดจะทำให้ Earning yield gap ของ SET Index อยู่ในระดับต่ำต่อไป
- การเร่งตัวของเงินเฟ้อและเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ธปท.ในการที่จะต้องหันมาให้น้ำหนักกับการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินมากขึ้น อย่างเช่นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงถัดไป ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์ PE Contraction ได้
- คาดการณ์ของตลาดต่อความเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยจะสูงขึ้นนี้ ส่งผลให้ Bond yield ระยะสั้นของไทยพุ่งสูงขึ้น และทำให้ 2s10s spread ของไทยทำจุดต่ำสุดใหม่ต่อเนื่อง ซึ่งมักไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นและกลุ่ม Domestic cyclical ที่อิงกับเศรษฐกิจ
- ธุรกรรม Short sales ที่คาดว่าจะกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง หลังผ่านพ้นช่วงการขึ้นเครื่องหมาย XD ต่างๆไปแล้ว ซึ่งมักเป็นปัจจัยทางฤดูกาลที่เกิดขึ้นประจำในเดือนพ.ค.ของทุกปี (รูปที่ 3) ซึ่งเมื่อมาประกอบกับยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่ค้างอยู่ตั้งแต่ต้นปีกว่า 1.2 แสนล้านบาทแล้ว ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่าจะเห็นแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติปรากฏขึ้นได้ในเดือนพ.ค.นี้
นายณัฐชาต กล่าวว่า ในสภาวะที่ Yield curve ของไทยยังคงแบนราบ (Flattening) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณเงิน M2 ของไทยยังคงขายตัวด้วยอัตราเร่ง (รูปที่ 4) คาดว่าจะเห็นการปรับตัว Outperform ของหุ้นเติบโตขนาดกลาง-เล็ก เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่ม Domestic cyclical และ Domestic value ต่อไปได้ ทั้งนี้ หากเลือกหุ้นในกลุ่มนี้ที่เราแนะนำ 10 ตัวในเดือนที่ผ่านมาซึ่งได้แก่ SA, TSR, SIMAT, IP, SVOA, IT, SUN, CHAYO, LEO, AMR จะพบว่าตัวที่ราคายังคง Laggard จะได้แก่ SA, SIMAT, IT เป็นต้น มองเป็นตัวหุ้นที่นักลงทุนสามารถเพิ่มน้ำหนักการลงทุนได้
ส่วนในฝั่งของหุ้นขนาดใหญ่นั้น เรายังคงชื่นชอบกลุ่ม Defensive growth ทั้ง Healthcare / Consumer staple / AMC เพียงแต่ว่าด้วยราคาหุ้นกลุ่ม Healthcare และ AMC ที่ขึ้นมาแรงแล้วในช่วงที่ผ่านมา มองว่าหากต้องการเพิ่มน้ำหนักการลงทุน ณ บริเวณนี้ สามารถโฟกัสไปที่กลุ่มที่ราคายังคง Laggard อย่างเช่น Consumer staple ได้ ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังคงมี Valuation ที่อยู่ในระดับต่ำทั้ง 3 ตัว ได้แก่ CPALL, MAKRO, BJC
สำหรับธีมที่หยิบยกเพิ่มเติมมาในเดือนนี้ก็คือหุ้นที่ได้อานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่าอย่างกลุ่มส่งออก เนื่องจากเราประเมินว่าเงินบาทในเดือนนี้อาจมี Downside risk ที่เพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ หากเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ยังคงชื่นชอบไปยังกลุ่ม FOOD & AGRI มากกว่ากลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่น้อยกว่า โดยจากการคัดกรองของเรา พบว่าหุ้นที่ยังคงมี Upside จากราคาเป้าหมายของเรา/Consensus และยังมีระดับ Forward PE ที่ไม่แพงนักเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย จะพบว่าได้แก่ ASIAN, GFPT, KSL, SUN, XO
ที่มา: หลักทรัพย์ ทรีนีตี้