สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้ดัชนีค้าปลีกเดือนเมษาส่งสัญญาณดีขึ้นจากอานิสงส์วันหยุดยาวต่อเนื่อง ย้ำรัฐใส่เกียร์เดินหน้าอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ ผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง

ศุกร์ ๐๖ พฤษภาคม ๒๐๒๒ ๑๕:๓๖
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการ ค้าปลีกประจำเดือนเมษายน 2565 ในภาพรวมพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) เดือนเมษายนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 56.4 ปรับเพิ่มขึ้น 9.9 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนมีนาคมที่ 46.5 จุด สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องสองช่วงในเดือนเมษายนที่ผ่านมา รวมถึงการส่งเสริมการขายของร้านค้าต่างๆ และประกอบกับข่าวการเปิดประเทศรับการท่องเที่ยว ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น 10.3 จุด จากระดับ 48.9 จุด ในเดือนมีนาคม มาที่ 58.7 จุดในเดือนเมษายน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโอมิครอนซึ่งกำลังเป็นช่วงขาลง และรัฐบาลกำลังจะประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้ดัชนีค้าปลีกเดือนเมษาส่งสัญญาณดีขึ้นจากอานิสงส์วันหยุดยาวต่อเนื่อง ย้ำรัฐใส่เกียร์เดินหน้าอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ ผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า "ผลการสำรวจรอบนี้ของเราต้องบอกว่ายอดขายสาขาเดิม Same Store Sale Growth (SSSG-YoY) ปรับเพิ่มขึ้น 9.9 จุด และอยู่เหนือค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนนับจากเดือนธันวาคม 2564 การเพิ่มขึ้นนี้เป็นการเพิ่มขึ้นในลักษณะ K-Shape ซึ่งเป็นรูปแบบการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดจนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ขณะที่บางส่วนยังไม่ฟื้นตัวและยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การฟื้นตัวไม่ครอบคลุมทุกประเภทร้านค้า สำหรับร้านค้าประเภทห้างสรรพสินค้า แฟชั่น ความงาม และภัตตาคาร-ร้านอาหาร ถือว่าเป็น K-Shape ขาขึ้นที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีจากนโยบายการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และการยกเลิก Test & Go สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ รวมทั้งการปลดล็อกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดของ ทุกจังหวัดเพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางและดำรงชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ร้านค้าปลีกประเภท ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งอยู่ในกลุ่มของ K-Shape ขาลง และมีสัดส่วนกว่า 65% ของภาคค้าปลีกทั้งประเทศ กลับเติบโตน้อย สะท้อนให้เห็นว่า กำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เนื่องจากการจ้างงานยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงอยู่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นการบริโภคด้วยนโยบายส่งเสริมและอุดหนุนของภาครัฐที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในช่วงสองปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าโครงการของภาครัฐฯ สามารถ พยุงเศรษฐกิจไทยให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 มาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในกลุ่มสินค้าหรือบริการผ่านโครงการประชารัฐ โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน และช้อปดีมีคืน ก่อให้เกิดผลบวกต่อผู้ประกอบการภาคการค้าปลีก ภาคการท่องเที่ยว และกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ในระดับที่น่าพอใจ"

ทั้งนี้ ยังมีบทสรุปประเด็นสำคัญของ "การประเมินผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนต่อภาคการค้า ที่สำรวจระหว่างวันที่ 18-26 เมษายน 2565" ดังนี้

1) ประเมินผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนต่อธุรกิจ

  • 70% มีผลต่อต้นทุนสูงขึ้น
  • 17% มีผลต่อการวางแผนธุรกิจยากขึ้น
  • 12% ยังไม่ได้รับผลกระทบ
  • 1% ขาดวัตถุดิบในการผลิต

2) ประเมินแผนการการปรับราคาสินค้าในสามเดือนข้างหน้า

  • 52% เพิ่มขึ้นไม่เกิน 10%
  • 44% เพิ่มขึ้นระหว่าง 11- 20%
  • 4% เพิ่มขึ้นมากกว่า 20%

3) ประเมินผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนต่อราคาสต็อกสินค้าและสภาพคล่อง

  • 87% จะปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า
  • 57% มีสต็อกเพียงพอแค่ 3 เดือน
  • 47% มีสภาพคล่องเพียงพอมากกว่า 12 เดือน

3 ข้อเสนอต่อภาครัฐ

  1. คงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐไว้อย่างต่อเนื่อง ภาครัฐควรพิจารณากระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนเพื่อให้เกิด การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ (Local Consumption) สร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ผ่านหลากหลายโครงการของรัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
  2. เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยภาครัฐ ภาครัฐควรมีการอนุมัติการลงทุนและดำเนินการโครงการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อเร่งสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการจัดจ้างการดำเนินงาน และสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมากขึ้น
  3. พยุงราคาพลังงานให้คงที่และได้นานที่สุด ภาครัฐควรพิจารณาใช้ทุกมาตรการในการช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนผ่าน การพยุงราคาพลังงาน เพื่อให้ค่าครองชีพไม่ปรับตัวแบบก้าวกระโดด อาทิ การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการออกมาตรการควบคุมราคาค่าขนส่ง

"ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของภาครัฐในการใส่เกียร์เดินหน้าเต็มกำลังในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นการบริโภคผ่านนโยบายของภาครัฐถือเป็นหัวใจสำคัญในการเดินหน้าประเทศไทย ซึ่งภาครัฐได้ดำเนินการมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว และควรผลักดันให้มีมาตรการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อเศรษฐกิจของประเทศไทยจะได้เติบโตอย่างยั่งยืน" นายฉัตรชัย กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: สมาคมผู้ค้าปลีกไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ