นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแต่ละสาขานั้นเกิดจากปัจจัยหลายประการ อาทิ เป็นสาขาอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการ เป็นสาขาที่ต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรืออาจเกิดจากมีข้อพิพาทเรื่องอัตราค่าจ้าง รวมถึงเป็นสาขาที่กำลังแรงงานที่มีอยู่ในสาขาอาชีพนั้นควรจะพัฒนาทักษะฝีมืออยู่เสมอ และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้กำลังแรงงานได้รับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานมากยิ่งขึ้น จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดเตรียมความพร้อมศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่จัดตั้งในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีเพียงพอต่อการให้บริการประชาชน ปัจจุบันอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ประกาศแล้วรวมทั้งสิ้น 112 สาขา มีผลบังคับใช้แล้ว 96 สาขา และประกาศเพิ่มเติมล่าสุดอีก 16 สาขา ซึ่งเป็นสาขาที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูง เช่น ช่างติดตั้งยิปซั่ม ช่างปูกระเบื้องผนังและพื้น ช่างสีอาคาร ช่างก่อและติดตั้งคอนกรีตมวลเบา และสาขาการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น บางสาขาอาชีพเป็นสาขาที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง เช่น ช่างเครื่องประดับ(รูปพรรณ) ช่างฝีมือเครื่องประดับแนวอนุรักษ์ (เทคนิคโบราณ) เป็นต้น
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ได้ส่งเสริมให้หน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ทดสอบกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ โดยศูนย์ทดสอบเหล่านี้ มีความพร้อมทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ และเมื่อผ่านการทดสอบแล้วสามารถนำใบรับรองไปใช้ในการปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ทั้งนี้ต้องเป็นสาขาที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มงานส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2245 4837 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4
ที่มา: กองสื่อสารองค์กร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน