สอวช. เผยตัวเลขลงทุน R&D ของไทยเติบโตขึ้นต่อเนื่อง แม้เผชิญโควิด-19 ผลจากรัฐเพิ่มสัดส่วนการลงทุน

จันทร์ ๒๓ พฤษภาคม ๒๐๒๒ ๐๙:๒๒
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยถึงการสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและภาคเอกชนของไทย ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2543 พบว่า ตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 แต่จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤตที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ทำให้ในปีสำรวจ 2563 สอวช. ได้คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาจะลดลง และมีผลต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 จากผลกระทบดังกล่าว แต่หากต้องการรักษาให้มูลค่าการลงทุนวิจัยและพัฒนาให้อยู่ในระดับปกติ ภาครัฐต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเข้ามา ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ประจำปี 2564 (สำรวจข้อมูลปี 63) ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ทำการสำรวจนั้น พบว่า ภาพรวมตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาเติบโตขึ้น เป็นจำนวนรวมกว่า 208,009 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น คิดเป็นจำนวน 66,304 ล้านบาท และภาคเอกชน 141,705 ล้านบาท โดยสัดส่วนภาครัฐต่อภาคเอกชนอยู่ที่ร้อยละ 32 และร้อยละ 68 ตามลำดับ ซึ่งการลงทุนจากภาครัฐเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงเกือบร้อยละ 10 สำหรับภาพรวมค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศต่อจีดีพียังเติบโตต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 1.33 จากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.14
สอวช. เผยตัวเลขลงทุน RD ของไทยเติบโตขึ้นต่อเนื่อง แม้เผชิญโควิด-19 ผลจากรัฐเพิ่มสัดส่วนการลงทุน

"สอวช. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปสู่เป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนาร้อยละ 2 ของจีดีพี ให้ได้ในปี 2570 โดยต้องมีมาตรการ กลไกที่ต้องเข้าไปช่วยกระตุ้นและส่งเสริมภาคเอกชนให้ลงทุนเพิ่มมากขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่าในปี 2565-2567 หากทั้งภาครัฐและเอกชนใส่เงินลงไปที่การวิจัยและพัฒนาตรงนี้ โดย สอวช. เองก็จะช่วยสนับสนุนให้เกิดกลไกที่เอื้อต่อการลงทุนควบคู่ไปด้วย จะทำให้การเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเติบโตและเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้" ดร. กิติพงค์ กล่าว

ในมุมหน่วยงานด้านนโยบาย สอวช. ตั้งเป้าหมายใหญ่ของประเทศที่จะขับเคลื่อนด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ให้สำเร็จภายในปี 2570 ได้แก่ 1) ขับเคลื่อนประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยเพิ่มจำนวนบริษัทที่มีนวัตกรรมที่มีขนาดมากกว่า 1,000 ล้านบาท ให้ได้ 2,000 บริษัท และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มขึ้นสูงกว่า 1.5 เท่าของการเติบโตรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของประเทศ 2) เพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูงให้เป็น 25% ในปี 2570 ผ่านแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับการลงทุนและการพัฒนาประเทศ 3) มีแพลตฟอร์มขับเคลื่อนการขยับสถานะทางสังคมและรายได้ของประชากรกลุ่มฐานรากหรือ Social Mobility จำนวน 1 ล้านคน และ 4) ผลักดัน 50% ของบริษัทส่งออกให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายได้ต้องมีการสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ทุนทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ ใช้แนวทางการขับเคลื่อนประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางผ่าน Three-Pronged Strategy ที่ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้เป็นฐาน หรือ Knowledge-Based Industry 2) อุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรมเป็นฐาน หรือ Creative & Cultural-Based Industry และ 3) เศรษฐกิจท้องถิ่น หรือ Local Economy

ในการขับเคลื่อน Knowledge-Based Industry ด้วยเศรษฐกิจนวัตกรรม (Innovation Economy) มุ่งเน้นการเพิ่มผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprise หรือ IDE) ทั้งปริมาณและคุณภาพ ให้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และมีการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังมีแนวทางการขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy หรือ CE) แพลตฟอร์มเพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (innovation ecosystem) มีการริเริ่มทำ CE Innovation Policy Platform นำไปสู่การจัดทำ CE Design & Solution Platform ส่งเสริมผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน

ส่วนการขับเคลื่อน Creative & Cultural-based Industry เริ่มจากการให้ความสำคัญกับทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ จากนั้นใช้กลไกการส่งเสริมด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการสร้างสรรค์ และการพัฒนาพื้นที่และเครือข่ายสร้างสรรค์ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดธุรกิจสร้างสรรค์ ต่อยอดจากทุนทางวัฒนธรรม ในแง่ของชุมชน ทำให้มีแนวทางอนุรักษ์และสืบทอดทุนวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป และสามารถแปลงทุนทางวัฒนธรรมที่มีเพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ และในแง่เครือข่าย มีการวางแผนและผลักดันให้เมืองเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก

สำหรับการขับเคลื่อน Local Economy ผ่านการส่งเสริมให้เกิด social enterprise เชื่อมโยงเครือข่ายและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ การพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยการมองหาโอกาสจากความขาดแคลนและพัฒนาให้เกิดเป็นธุรกิจ เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งจากภายในและภายนอกพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อก่อให้เกิดการสร้างระบบนิเวศที่จะสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการนวัตกรรม ที่สามารถพัฒนาไอเดียให้เกิดเป็นธุรกิจและเกิดกิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ โดยภาครัฐมีหน้าที่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายและเป็นระบบนิเวศ นอกจากนี้ยังมีแนวทางการขจัดความยากจนแบบตรงจุด จากการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล เพื่อพัฒนานโยบายนวัตกรรมขจัดความยากจน รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยใช้องค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพยากรมาใช้พัฒนาพื้นที่พัฒนาประเทศ และนำโจทย์หรือปัญหาของประเทศมาสู่การพัฒนาศักยภาพกำลังคน องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศ

การขับเคลื่อนด้านนโยบายในส่วนอื่นๆ ยังมีแนวทางการสร้างทักษะใหม่ (new skill) สนับสนุนเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง (lifelong learning) มีการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของการupskill/reskill/new skill เพื่อผลิตกำลังคนรองรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจอุตสาหกรรมให้ได้ตามเป้าหมาย 100,000 คนต่อปี

ตัวอย่างนโยบายที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน เช่น การผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564, มาตรการ Thailand Plus Package การรับรองการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงและการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ (STEM), ระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม แม่โขง-ล้านช้าง Route No.1 Innovation Economic Corridor เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้ากลุ่มคลัสเตอร์เป้าหมายในเส้นทางที่เชื่อมโยงกับประเทศใกล้เคียง, กองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) ที่ภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนสนับสนุนทุนด้านนวัตกรรมให้แก่ SME กลไกสนับสนุนการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ (higher education sandbox) ส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อผลิตกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการมากยิ่งขึ้น ผ่านการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา, การปรับระบบการให้ทุน ววน. มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริม ววน. ในการจัดสรรงบประมาณวิจัยและนวัตกรรมให้กับหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) เพื่อนำไปสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมให้กับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย รวมถึงภาคเอกชนหรือหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเข้ากองทุน ววน. ไปแล้วกว่า 17,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ได้รับการจัดสรร 14,000 ล้านบาท หลังจากนี้ต้องดูว่าในกองทุนอื่นๆ ที่มีอยู่ จะทำความร่วมมือเพื่อนำเม็ดเงินมาลงในเรื่องการวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร

นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านงบประมาณ เช่น การบริหารกองทุนส่งเสริม ววน. โดยมีหลักการเพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณแบบ multi-year และ block grant, ด้านการบริหารจัดการ เช่น การจัดทำผังโครงสร้างข้อมูลด้าน ววน. เพื่อการติดตามนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้าน ววน., ด้านโครงสร้างระบบหน่วยงาน เช่น การจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านภายใต้สภานโยบาย (บพค., บพข., บพท.), ด้านการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม เช่น มาตรการสนับสนุนทุนแก่ภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม ตามความต้องการของภาครัฐหรือตามอุปสงค์ของตลาด (Thailand Business Innovation Research หรือ TBIR) เป็นต้น

ที่มา: สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

สอวช. เผยตัวเลขลงทุน RD ของไทยเติบโตขึ้นต่อเนื่อง แม้เผชิญโควิด-19 ผลจากรัฐเพิ่มสัดส่วนการลงทุน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO