อันดับเครดิตของ SCGP อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ที่มีสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่งกว่า ซึ่งได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ('A+(tha)',แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทย่อย (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria)
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
การพิจารณาความสัมพันธ์กับบริษัทแม่ - ฟิทช์พิจารณาเห็นว่า SCGP มีความสัมพันธ์ต่อ SCC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ SCGP ในสัดส่วนร้อยละ 72 ในการที่จะส่งผลให้ SCC ให้การสนับสนุนแก่ SCGP ดังนี้ ความสัมพันธ์เชิงกฎหมาย (Legal Incentive) อยู่ในระดับต่ำ, ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Incentive) อยู่ในระดับปานกลาง และความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงาน (Operational Incentive) อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งความสัมพันธ์ในระดับดังกล่าวส่งผลให้ SCGP ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสูงสุดไม่เกินสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile: SCP) ของ SCGP ซึ่งอยู่ที่ 'a(tha)' อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP ต่ำกว่าสถานะทางเครดิตของกลุ่มของบริษัทแม่เพียงหนึ่งอันดับ อันดับเครดิตสุดท้ายของ SCGP จึงได้รับการปรับเพิ่มขึ้นเพียงเท่ากับสถานะทางเครดิตของกลุ่มเของบริษัทแม่เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของฟิทช์
สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งด้วยความเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างสม่ำเสมอและมีสถานะทางการเงินที่ดี
ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ในระดับปานกลาง - ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ซึ่งจะส่งผลถึงการสนับสนุนที่จะได้รับจากSCC เป็นผลมาจาก สัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ SCGP ต่อ EBITDA รวมของ SCC อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 30 และการที่ธุรกิจของ SCGP เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักของ SCC นอกจากนี้ SCC ยังได้รับประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ มายังธุรกิจแพคเกจจิ้งของ SCGP เนื่องจากกลุ่มธุรกิจอื่นของ SCC ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ และกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เป็นธุรกิจที่มีความผันผวนมากกว่าธุรกิจแพคเกจจิ้งของ SCGP
ความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงานในระดับปานกลาง - ฟิทช์พิจารณาความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงานที่ SCGP มีต่อ SCC อันจะส่งผลถึงการสนับสนุนที่จะได้รับจาก SCC ประกอบด้วย ระดับของโครงสร้างการบริหารและการใช้แบรนด์ร่วมกัน (Management and Brand Overlap) ที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่การผสานประโยชน์ทางด้านการดำเนินงาน (Operational Synergies) อยู่ในระดับต่ำ โดยการตัดสินใจทางการบริหารและกลยุทธ์ของ SCGP มีความอันหนึ่งอันเดียวกันกับ SCC และบริษัทย่อยของ SCC จะใช้แบรนด์สินค้าหลักร่วมกันภายใต้แบรนด์ "SCG" ของบริษัทแม่ อย่างไรก็ตาม การผสานประโยชน์ทางด้านการดำเนินงาน ที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นผลมากจากการที่ SCC และ SCGP ดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ประโยชน์ในด้านการลดต้นทุนการดำเนินงานที่บริษัทแม่ได้รับจากบริษัทย่อยไม่มีนัยสำคัญในมุมมองของฟิทช์
EBITDA เติบโตดี - ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ SCGP จะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 8 ในปี 2565 หลังจากที่มีการเติบโตร้อยละ 23 สู่ระดับ 2.0 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 ซึ่งเป็นผลจากการขยายกำลังการผลิตและการรับรู้ผลกำไรจากกิจการที่มีการเข้าซื้อในช่วงที่ผ่านมา การเข้าซื้อกิจการจำนวนมากตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้รายได้ของ SCGP อาจเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 1.4 แสนล้านบาทในปี 2565 จากระดับ 9.2 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ถึงแม้ว่าการผลิตในระยะแรกของก่อนที่จะสามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต (Ramp-up Period) ของกำลังการผลิตใหม่ในกลุ่มกระดาษบรรจุภัณฑ์และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบอาจจะทำให้อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ลดลงเล็กน้อยในปี 2565
EBITDA ของ SCGP ลดลงร้อยละ 9 มาอยู่ที่ระดับ 4.7 พันล้านบาทในไตรมาส 1 ของปี 2565 ในขณะที่ EBITDA Margin ลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 13 ในไตรมาส 1 ของปี 2565 (จากฐานที่สูงในระดับร้อยละ 19 ในไตรมาส 1 ของปี 2564) ถึงแม้ว่ารายได้จะเติบโตสูงถึงร้อยละ 34 อัตราส่วนกำไรได้รับผลกระทบจากการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ พลังงาน และค่าขนส่ง รวมถึงการปิดเมืองของประเทศจีนซึ่งส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าลดลง และกระทบห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่า EBITDA Margin จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 15 สำหรับผลประกอบการปี 2565 ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการซื้อสินค้าที่คาดว่าจะฟื้นตัวและราคาขายสินค้าที่สูงขึ้น
ฐานะทางการเงินยังคงแข็งแกร่ง - ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ของ SCGP จะยังคงอยู่ในระดับเดิมที่ประมาณ 2.0 เท่า ณ สิ้นปี 2565 (รอบสิบสองเดือนล่าสุดสิ้นสุดไตรมาส 1 ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 2.1 เท่า และสิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 0.7 เท่า) เป็นผลจากแผนการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนที่ใช้เงินบางส่วนที่ได้จากการขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 ในการลงทุนเข้าซื้อกิจการเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นการขยายธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์ขั้นปลายในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์พร้อมให้บริการแบบครบวงจรในลักษณะโซลูชั่นสำหรับกลุ่มบรรจุภัณฑ์ทั้งกระดาษและพลาสติก
ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน - สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP ที่ 'a(tha)' สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำตลาด ในฐานะผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยวัดจากกำลังการผลิต กำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษขั้นปลายของ SCGP น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.0 ล้านตันต่อปี ในปี 2565 และ 6.3 ล้านตันต่อปี ในปี 2567 จากประมาณ 5.7 ล้านตันต่อปี ในปี 2564 จากการลงทุนขยายกำลังการผลิตของโรงงานในฟิลิปปินส์ และเวียดนามตอนเหนือ กำลังการผลิตสินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารและบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน แต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำ หลังจากการเข้าซื้อกิจการจำนวนมากตั้งแต่ปี 2563
กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ -ประมาณร้อยละ 70 ของรายได้จากบรรจุภัณฑ์ของ SCGP มาจากกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่หมุนเวียนเร็ว (Fast-Moving Consumer Goods หรือ FMCG) และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการซื้อที่ค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจและมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูง นอกจากนี้ ธุรกิจของ SCGP ยังได้รับประโยชน์จากการขยายสายการผลิตสินค้าไปยังสินค้าขั้นต้น (Vertical Integration) เช่น กระดาษบรรจุภัณฑ์ซึ่งทำให้บริษัทฯ สามารถลดผลกระทบต่ออัตราส่วนกำไรจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบได้ในระดับหนึ่ง ฟิทช์คาดว่า SCGP จะมีกำลังการผลิตและความหลากหลายของสินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการใช้จ่ายเงินของลูกค้าในผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ได้
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP ใกล้เคียงกับอันดับเครดิตของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC (A(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) โดยบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่อันดับเครดิตได้รับการสนับสนุนจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจของตนเอง SCCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนไหวต่อวัฏจักรขาลงทางเศรษฐกิจมากกว่า SCGP เนื่องจาก SCCC มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ SCGP มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และกลุ่มธุรกิจของลูกค้าที่หลากหลายกว่า รวมถึงมีความต้องการซื้อจากลูกค้าที่มีความสม่ำเสมอมากกว่า ส่งผลให้ SCGP สามารถรองรับอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า SCCC ได้ในอันดับเครดิตระดับเดียวกัน
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้เติบโตในอัตราร้อยละ 17 ต่อปีในปี 2565 (ปี 2564 เติบโตร้อยละ 34) โดยได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อสินค้า การขยายกำลังการผลิต และการรวมผลประกอบการของกิจการที่มีการเข้าซื้อในช่วงที่ผ่านมา
- EBITDA Margin ลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 15 ในปี 2565-2566 (ปี 2564 ร้อยละ 16.1 และปี 2563 ร้อยละ 17.5)
- ค่าใช้จ่ายลงทุน ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2565-2566
- อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับร้อยละ 40 ในปี 2565-2566
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC ร่วมกับการปรับเพิ่มสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง SCGP และ SCC ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ปัจจัยลบ: - การปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC
- ความสัมพันธ์ระหว่าง SCGP และ SCC ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP
ปัจจัยบวก:
- SCGP จะมีสถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้นอย่างนัยสำคัญ โดยมีขนาดทางธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น โดยวัดจาก EBITDA มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้นและมีประเภทสินค้าที่หลากหลายขึ้น
ปัจจัยลบ: - FFO net leverage อยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
สำหรับอันดับเครดิตของ SCC ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตได้แสดงในรายงานอันดับเครดิตของฟิทช์ลงวันที่ 24 มกราคม 2565 ดังนี้
ปัจจัยบวก:
- ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต เว้นแต่จะมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการขยายธุรกิจเคมิคอลส์ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบของโครงการ LSP ในประเทศเวียดนาม
ปัจจัยลบ: - FFO net leverage อยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
สภาพคล่อง
สภาพคล่องเพียงพอ: SCGP มีหนี้สินที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับจากสิ้นเดือนมีนาคม 2565 จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท และเงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระประมาณ 2 หมื่นล้านบาท สภาพคล่องของ SCGP ได้รับการสนับสนุนจาก เงินสดในมือจำนวนประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านตลาดตราสารหนี้และสินเชื่อจากสถาบันการเงินในประเทศ
ข้อมูลบริษัท
SCGP เป็นบริษัทย่อยหลักของ SCC ในการดำเนินธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่ง SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCGP เป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
วันที่จัดทำ Rating Committee ล่าสุด: 21 มกราคม 2565
อันดับเครดิตที่เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ SCGP เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตของ SCC
ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์