ฟิทช์คงอันดับเครดิต ของ บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด ที่ 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

อังคาร ๒๔ พฤษภาคม ๒๐๒๒ ๑๐:๐๙
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด หรือ NNEG และ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันที่ 'A-(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

การประกาศคงอันดับเครดิตของสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ ว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO net leverage) ของ NNEG จะลดลงไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 4.3 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า หลังจากที่อัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตในปี 2565 ฟิทช์คาดว่ากำไรต่อรายได้ของบริษัทจะได้รับแรงกดดันในระยะสั้นในปี 2565 จากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนกำไรต่อรายได้ในส่วนการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม เนื่องจากการปรับค่าไฟฟ้าน่าจะมีความล้าช้า และบริษัทมีแผนการบำรุงรักษาขนาดใหญ่ในช่วงดังกล่าว

อันดับเครดิตของ NNEG ได้รับการสนับสนุนจาก ความต้องการไฟฟ้าที่มีความผันผวนต่ำ และกระแสเงินสดที่สามารถคาดการณ์ได้ รวมทั้งการปรับชึ้นค่าไฟฟ้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อย่างไรก็ปัจจัยดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจาก การลงทุนเพิ่มเติมในการขยายกำลังผลิตที่ยังมีความเสี่ยงในการดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผน

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

แรงกดดันต่อกำไร: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของบริษัทจะลดลงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 ในปี 2565 จากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และการปรับราคาค่าไฟฟ้าที่ช้ากว่าต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นในส่วนของการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากแผนการซ่อมบำรุงหลักในปี 2565 โดยฟิทช์คาดว่า EBITDA Margin ของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 24 ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จากค่าไฟฟ้าที่ค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 และราคาก๊าซธรรมชาติที่น่าจะลดลงตามราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวลงตามการประมาณการของฟิทช์

ค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เพิ่มขึ้น: ฟิทช์คาดว่า ค่าใช้จ่ายในการลงทุนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับประมาณ 2.2 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนขยายกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 30 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำที่ 5 ตันต่อชั่วโมง โดยส่วนกำลังการผลิตใหม่นี้จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในกลางปี 2567 และให้บริการกับ ลูกค้าอุตสาหกรรมภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาว ซึ่งมีโครงสร้างราคาเหมือนกับสัญญาของลูกค้าปัจจุบัน กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ NNEG ไม่น่าเพียงพอสำหรับการลงทุน ในช่วงเวลาดังกล่าว NNEG มีแผนที่จะใช้หนี้สินและเงินทุนในการลงทุนนี้โดยจะใช้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ 70:30

สถานะทางการเงินปานกลาง: ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 5.5 เท่า ในปี 2565 จากอัตราส่วนการทำกำไรต่อรายได้ที่อ่อนแอลง โดยอัตราส่วนหนี้สินจะปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 4.3 เท่าภายในปี 2566 จากการฟื้นตัวของผลประกอบการ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจะยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตของบริษัท ในช่วงที่มีการลงทุนที่สูงในช่วงปี 2566-2567 เนื่องจาก ขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น และเงินทุนสำหรับการขยายกำลังการผลิตมาจากทั้งเงินกู้และการเพิ่มทุน

สัญญาซื้อขายระยะยาว: กำไรของ NNEG ได้รับประโยชน์จาก สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA) ภายใต้โครงการจัดซื้อไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กของไทย โดยบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ในลักษณะ take or pay ภายใต้โครงการดังกล่าว เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 90 เมกะวัตต์ หรือประมาณร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตทั้งหมดของบริษัทฯ ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.;'BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ในขณะที่บริษัทฯจำหน่ายไฟฟ้าส่วนที่เหลือและไอน้ำจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 179 เมกะวัตต์ ให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาว ซึ่งมีระยะเวลาสัญญาเหลือเฉลี่ยประมาณ 17 ปี

ความผันผวนของความต้องการไฟฟ้าที่ต่ำ: ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ของบริษัทกับ กฟผ.นั้น กฟผ.จะต้องรับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตที่ได้ตกลงกันไว้ แม้ว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำกับลูกค้าอุตสาหกรรมจะไม่มีข้อกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำ แต่ความเสี่ยงดังกล่าวถูกลดทอนจากความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำที่อยู่ในระดับสูงในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 300 เมกะวัตต์ และการกระจายตัวของลูกค้าจากหลากหลายอุตสาหกรรม โดยอัตราการใช้กำลังการผลิต (utilisation rate) มีอัตราที่ความผันผวนต่ำและอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 80 รวมทั้งการที่บริษัทสามารถในเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตใหม่ สำหรับโครงการขยายกำลังการผลิตจำนวน 54 เมกะวัตต์ ที่ผ่านมา ทำให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 ในปี 2564

ความเสี่ยงด้านราคาในระดับต่ำ: สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว กับ กฟผ.นั้น มีการส่งผ่านค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนเชื้อเพลิงและจากอัตราแลกเปลี่ยนของ NNEG ไปยังค่าไฟฟ้าได้ ในขณะที่การจำหน่ายไอน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมจะมีการคำนวณราคาขายแบบต้นทุนบวกกำไร อย่างไรก็ตามกำไรจากการขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมนั้นมีความเสี่ยงด้านราคาอยู่บ้าง ถึงแม้ว่าสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าจะใช้ราคาเชื้อเพลิงเข้ามาร่วมประกอบการพิจารณา แต่การปรับค่าไฟฟ้าแต่ละครั้งนั้นจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งทำให้อาจส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อกำไรของบริษัทฯ ถึงแม้ว่าการปรับค่าไฟฟ้าจะมีถูกปรับให้อยู่ในระดับสมดุลในระยะ2-3ปี

ความเสี่ยงจากการมีโรงไฟฟ้าเพียงแห่งเดียว: NNEG มีโรงไฟฟ้าเพียงแห่งเดียว ซึ่งมีขนาดเล็กและไม่มีการกระจายตัวของรายได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำหรับอันดับเครดิตของ NNEG รายได้และกระแสเงินสดของ NNEG อาจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญหากโรงไฟฟ้ามีการหยุดเดินเครื่องโดยไม่ได้วางแผนไว้ หรือประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าลดลง อย่างไรก็ตามสัญญาการว่าจ้างการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้ากับ กฟผ. และสัญญาบริการระยะยาวกับ Siemens AG (Siemens, A+/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และระบบป้องกันน้ำท่วมถาวร น่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากการดำเนินการดังกล่าว
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

ลักษณะรายได้และกระแสเงินสดของ NNEG มีความคล้ายคลึงกับ บริษัท โกลบอลเพาเวอร์ซินเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) (GPSC; 'A+(tha)'/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ, อันดับเครดิตโดยลำพัง 'a-(tha)') ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ในประเทศไทย โดยบริษัททั้งสองมีรายได้ที่สม่ำเสมอและสามารถคาดการณ์ได้ จากความเสี่ยงด้านการแข่งขันที่ต่ำเนื่องสัญญาซื้อขายระยะยาว อย่างไรก็ตาม NNEG มีกระจายตัวของสินทรัพย์ และกระแสเงินสดจากการดำเนินการที่น้อยกว่า GPSC อย่างมีนัยสำคัญ ฟิทช์คาดว่า NNEG จะมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า GPSC ในช่วง 2-3ปีข้างหน้า เนื่องจาก GPSC มีค่าใช้ด้านการลงทุนขนาดใหญ่ ดังนั้นอันดับเครดิตของ NNEG จึงเท่ากับ อันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC ถึงแม้ว่า GPSCจะมีขนาดสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่าเนื่องจากมีการกระจายตัวของทรัพย์สินและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สูงกว่า

NNEG มีลักษณะกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในลักษณะใกล้เคียงกับ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS; 'BBB+(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยานภายในท่าอากาศยานหลักของประเทศ บริษัททั้งสองจึงมีรายได้ที่สม่ำเสมอ และสามารถคาดการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ความสม่ำเสมอและคาดการณ์ได้ของกระแสเงินสดของ BAFS ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ในขณะที่ธุรกิจของ NNEG ได้รับผลกระทบที่น้อยกว่ามาก NNEG มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่าและมีการกระจายตัวของรายได้ที่น้อยกว่า BAFS อย่างไรก็ตาม BAFS มีอันดับเครดิตต่ำกว่า NNEG หนึ่งอันดับเนื่องจากสถานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่า NNEG อย่างมาก

สมมติฐานที่สาคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:

  • การขายไฟฟ้าให้กับกฟผ.และความต้องการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรม มีอัตราที่ค่อนข้างคงที่ในช่วงปี 2565-2567
  • EBITDA margin ลดลงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และ แผนการซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ในปี 2565 และจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 23-24 ในช่วงปี 2566 เป็นต้นไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น และราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลง
  • มีการชำระค่าใช้จ่ายในการลงทุนรวม 2.2 พันล้านบาท ในช่วงปี 2565-2567 ซึ่งรวมถึงโครงการขยายกำลังการผลิตใหม่
  • อัตราการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 80

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

  • การปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดของธุรกิจที่มีขนาดเล็กและไม่มีการกระจายตัวของรายได้

ปัจจัยลบ:

  • FFO net leverage และ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรที่ได้จากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EDITDA) ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 4.3 เท่าอย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่ดี: ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 NNEG มียอดหนี้คงค้างอยู่ที่ 5.4 พันล้านบาท โดยหนี้จำนวน 372 ล้านบาทป็นหนี้ที่จะครบกำหนดชำระคืนภายในปี 2566 ทั้งนี้สภาพคล่องของบริษัทมาจากเงินสดประมาณ 1.0 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 และ ฟิทช์คาดว่า บริษัทมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ที่ระดับประมาณ 500-900 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2565-2567

ข้อมูลของบริษัท
NNEG เป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศไทย โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติระบบโคเจนเนอเรชั่นของบริษัทตั้งอยู่ที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร โดยลูกค้าหลักคือ กฟผ. และลูกค้าอุตสาหกรรม โดยบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจำนวน 179 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 40 ตันต่อชั่วโมง

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๔๖ MEDEZE ต้อนรับสถาบันนักลงทุน CSI เยี่ยมชมบริษัท
๑๓:๔๙ บริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด รับประกาศนียบัตร เครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ประจำปี 2567
๑๓:๔๓ AJA จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 ผถห. โหวตผ่านทุกวาระ พร้อมเปิดตัวกลยุทธ์ใหม่ รีแบรนด์ AJ EV BIKE สู่
๑๓:๕๑ SCAP ตั้งเป้าระดมทุนโดยการขายหุ้นกู้1,600 ล้านบาท ชูดอกเบี้ยสูงสุด 5.05% ต่อปี ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือที่ BBB เปิดขายวันที่ 31 ม.ค. และ 3-4 ก.พ.
๑๒:๐๐ สกสว. - สวทช. รุกปั้นกลุ่ม ผู้จัดการงานวิจัยและนวัตกรรม หนุนระบบบุคลากร
๑๒:๑๕ HMD ประเทศไทย เปิดแผนธุรกิจปี 68 ย้ำมุ่งพัฒนาสมาร์ทโฟนคุณภาพ ด้วยปรัชญา ใช้งานปลอดภัย ไว้ใจได้ ด้วยราคาเข้าถึงง่าย
๑๑:๑๒ VEHHA Hua Hin คว้า Fitwel มาตรฐานคอนโดระดับโลก ยกระดับคุณภาพชีวิตระยะยาว ต่อยอดจุดแข็งสู่ที่สุดของความครบครัน
๑๑:๐๐ ttb reserve มอบประสบการณ์ใหม่เหนือระดับเพื่อลูกค้าคนสำคัญ
๑๑:๓๙ ศิลปะจักสานหลินซู ภูมิปัญญาโบราณสู่ตลาดโลก
๑๑:๐๐ ฉลองครบ 10 ปี HOUSE OF LITTLEBUNNY กระเป๋าแบรนด์ไทย จากกระต่ายน้อยตัวเล็ก เติบโตสู่ตลาดอินเตอร์ จัดแฟชั่นโชว์ยิ่งใหญ่