นายอุดมพงษ์ จันทรัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "การก่อสร้างโรงไฟฟ้าสหโคเจนโครงการใหม่ (SPP Replacement) เป็นการดำเนินงานตามแผนการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อทดแทนโครงการเดิมที่จะหมดสัญญาจำหน่ายไฟฟ้ากับ กฟผ. ในปี 2567 เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงานให้กับคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา โดยใช้เครื่องจักรใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำต่ำลง ซึ่งคู่ค้าของบริษัทก็จะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ด้วย โดยโรงไฟฟ้าสหโคเจนโครงการใหม่จะสามารถรองรับได้ทั้งลูกค้าที่จะเข้ามาตั้งโรงงานใหม่ และลูกค้าเดิมที่จะขยายกำลังการผลิตในอนาคต อีกทั้งข้อดีของการที่มีโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำตั้งอยู่ภายในสวนอุตสาหกรรม และจำหน่ายให้กับคู่ค้าโดยตรงเพียงจุดเดียว จะเป็นการช่วยลดมลภาวะจากกระบวนการผลิตในภาพรวม โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่บริษัทได้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา และลงทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศมาตลอด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา บริษัทอยู่ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามปณิธานที่ตั้งไว้ว่า สหโคเจน พลังงานยั่งยืน คืนประโยชน์สู่สังคม"
โดยการดำเนินงานของโครงการฯ ได้ว่าจ้างบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้ดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งรายงานดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยการควบคุมมลพิษทางอากาศ ใช้เทคโนโลยี DRY LOW NOx (DLN) และ WATER INJECTION ในการควบคุมการเกิดออกไซด์ของไนโตรเจนที่เกิดขึ้นขณะเผาไหม้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดออกไซด์ของไนโตรเจนน้อยที่สุด ส่วนน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตจะมีค่าความปนเปื้อนต่ำ ตามข้อกำหนดของระบบบำบัดน้ำส่วนกลางของสวนอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินธุรกิจพลังงาน ภายใต้การรวมกลุ่มธุรกิจ โดย บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ เครือสหพัฒน์ ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2539 มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมสูงสุด 214 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 96 ตันต่อชั่วโมง โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ 90 เมกะวัตต์ จำหน่ายแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และไฟฟ้าส่วนที่เหลือรวมทั้งไอน้ำจำหน่ายแก่โรงงานอุตสาหกรรมในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์-ศรีราชา ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
สำหรับโรงไฟฟ้าสหโคเจนโครงการใหม่ (SPP Replacement) หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำที่ส่งจำหน่ายให้กับคู่ค้าได้อย่างต่อเนื่อง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 79.50 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 75 ตันต่อชั่วโมง โดยบริษัท สหโคเจน ได้กำหนดงบประมาณในการก่อสร้างรวม 2,700 ล้านบาท และคาดว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสหโคเจนโครงการใหม่จะแล้วเสร็จ และสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในเดือนเมษายน 2567
ที่มา: อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น