ดร.โคทม อารียา ประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (ทีเอชนิค) กล่าวในการเปิดงาน มีใจความตอนหนึ่งว่า "ผมรู้สึกยินดี ที่เรากลับมาพบหน้ากันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งอีกครั้ง และดูเหมือนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส หรือแม้แต่เหตุการณ์สงคราม เป็นเหตุให้ประชาคมอินเทอร์เน็ตต้องทำงานกันหนัก เพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในแง่ของปริมาณข้อมูลและรูปแบบการใช้งานที่ต่างออกไป เรายังได้เห็นด้วยว่า ในช่วงเกิดการขัดแย้งและสงคราม อาวุธชนิดหนึ่งที่นำมาใช้โจมตีกันอย่างกว้างขวางก็คือ อาวุธไซเบอร์ ซึ่งเป็นอาวุธที่ไม่ยึดติดกับสภาพภูมิศาสตร์ ก่อเป็นสงครามไซเบอร์ที่ทวีความรุนแรงส่งผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่งในวันนี้เราได้รับเกียรติจาก Mr. Barry Raveendran Greene จาก Akamai Technology ร่วมกล่าวปาฐกถาในเรื่องสงครามไซเบอร์ เพื่อประชาคมอินเทอร์เน็ตของเราจะได้เพิ่มความตระหนักและเตรียมพร้อมรับมือ"
"วันนี้ดูเหมือนสถานการณ์การล็อคดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ผ่านมา จะส่งผลให้ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ผมรู้สึกยินดีที่พวกเราได้ริเริ่มศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่เป็นกลางของไทยเอาไว้หลายปีก่อน และวันนี้มีส่วนช่วยในการเพิ่มศักยภาพรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณมหาศาลที่เพิ่มมากขึ้น เรามีความตั้งใจผลักดันให้ BKNIX เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลของภูมิภาค เพื่อขยายการรองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้" ดร.โคทม กล่าวเสริม
นางสาวปัทมา บุนนาค ผู้จัดการบริษัท บีเคนิกซ์ จำกัด กล่าวว่า "BKNIX มุ่งเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็น hub ของภูมิภาค โดยปีนี้ปริมาณข้อมูลที่แลกเปลี่ยนกันที่ BKNIX สูงขึ้นแตะระดับ 100 Gbps เป็นครั้งแรก เราได้เพิ่มจุดให้บริการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น พร้อมสำหรับการเติบโต และการเป็น hub ของภูมิภาคต่อไป โดยปีนี้เราได้ทำความร่วมมือกับ STT GDC Thailand ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกล เปิดจุดแลกเปลี่ยนภายในประเทศของบีเคนิกซ์อีกจุด เพื่อรองรับการขยายตัวของสมาชิกและการแลกเปลี่ยนข้อมูลขนาดเทระไบต์ (TB) นอกจากนั้นเรายังมีสมาชิกมาเชื่อมต่อโหนดที่เชียงใหม่ ได้แก่ เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมxายเพิ่มเสถียรภาพการเชื่อมต่อและเพิ่มประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ภาคเหนือ ลดการพึ่งพาจากส่วนกลาง ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตเป็นจุดแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญของประเทศอีกแห่ง"
ในปีนี้การประชุม BPF2022 ได้ปรับรูปแบบเป็นการประชุมแบบ Hybrid รองรับการร่วมงานทั้งจากระบบออนไลน์และแบบพบหน้า โดยหัวข้อภายในงานกำลังอยู่ในความสนใจ เช่น การจัดการด้านความปลอดภัยของเครือข่าย, 5G, Edge Computing, IOT, และทิศทางอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย รวมถึง แนวโน้มการเติบโตของตลาดศูนย์ข้อมูลในอาเซียน (Data Center Market in ASEAN) นอกจากนี้ ผู้จัดงานยังได้เปิดแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการเจรจาหาความร่วมมือระหว่างผู้เข้าร่วมงานอีกด้วย
การจัดงานในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ISOC, ETIX Everywhere, AWS, Cable Connect, APNIC, กสทช, Netflix, TCC Technology Group, Telehouse, NTT Global IP Network, Google, Opengear, JPNAP, Meta, BBIX, STT GDC Thailand, Console connect, TrueIDC, .TH และ NSRC ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้พบตัวแทนจากองค์กรเหล่านี้บนแพลตฟอร์มการประชุมและพบปะสังสรรค์ออนไลน์อีกด้วย
ผู้เข้าร่วมงานประชุม BKNIX Peering Forum 2022 ประกอบด้วยผู้ที่อยู่ในองค์กรกลุ่มธุรกิจสื่อสารและอินเทอร์เน็ตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต, ผู้ให้บริการโครงข่ายจัดส่งข้อมูล, ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต, ผู้ให้บริการวงจรสื่อสัญญาณ, ผู้ให้บริการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูล และผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, กัมพูชา, ออสเตรเลีย, อินเดีย, ฮ่องกง, เกาหลีใต้, ลาว, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ปากีสถาน, เมียมา, บังกลาเทศ, บลาซิล, มอริเชียส, ศรีลังกา, เบนิน, สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 300 คน ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและรับชมงานประชุมย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์ peeringforum.bknix.co.th
สำหรับ BKNIX หรือ Bangkok Neutral Internet Exchange เป็นผู้ให้บริการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Exchange Point: IXP) ที่เป็นกลาง แห่งแรกในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2558 ดำเนินการภายใต้มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNICF) โดยเปิดให้สมาชิกเชื่อมต่อผ่านอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีระดับโลก ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่รองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล อินเทอร์เน็ตในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีความสามารถรองรับปริมาณข้อมูลได้สูงในระดับเทราบิตต่อวินาที (Tbps)