โดยได้ดำเนินการจัดทำ "แผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ปี พ.ศ. 2565 - 2566 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์" ซึ่งเป็นแผนที่ใช้ในการช่วยกำหนดทิศทางการเกษตรอัจฉริยะ และเป็นการวางรากฐานการเกษตรอัจฉริยะของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ สามารถนำแนวทางที่จัดทำไว้ภายใต้แผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะฉบับนี้ ไปพิจารณาปรับใช้เป็นข้อเสนอโครงการในหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนการเกษตรอัจฉริยะของประเทศ ซึ่งการทำแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ได้ดำเนินการระดมสมองร่วมกับผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ 2) การสร้างการรับรู้ เข้าถึงใช้ประโยชน์ และส่งเสริมการขยายผลเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ 3) การสร้างแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ แปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะ 4) การพัฒนาการแปรรูปและการตลาดเกษตรอัจฉริยะ 5) การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการบริหารจัดการเกษตรอัจฉริยะ และ 6) การพัฒนาบุคลากรและเครือข่ายเกษตรอัจฉริยะ
"กระทรวงเกษตรฯ ยังได้เร่งพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ให้มีความพร้อมในด้านวิจัยและพัฒนาการเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐและเกษตรกร สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และช่วยเป็นครูผู้ฝึกหรือพี่เลี้ยงให้แก่เกษตรกร โดยมุ่งเป้าทั้ง Smart Farmer และ Young Smart Farmer ตลอดจนผู้นำเกษตรกรของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และแปลงใหญ่ ทั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาแปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในทุก ๆ จังหวัดของประเทศ และให้เข้าถึงทุกอำเภอ ภายใน 3 ปี ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติด้านการเกษตรต่อไป" ดร.เฉลิมชัย กล่าว
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่การจัดงาน AGRITECHNICA ASIA & HORTI ASIA 2022 ได้จัดให้มีโซนสำหรับการนำเสนอการทำ Smart Farming ของประเทศไทย จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานภายนอก รวมทั้งภาคเอกชน ซึ่งได้ร่วมกันนำเสนอนวัตกรรม การนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ในการช่วยการทำการเกษตร เช่นการจัดการดิน การเพิ่มประสิทธิภาพข้าวด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ การทำนาเปียกสลับแห้ง การปลูกผักใน Plant Factory การควบคุมโรงเรือนอัจฉริยะ และการทำงานของเครื่องจักกลเกษตรที่ใช้ในการปลูกหญ้าแพงโกลา ตลอดจนการสาธิตโดรนเพื่อการเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในหัวข้อต่าง ๆ ที่นักวิชาการทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนมาร่วมคุยแลกเปลี่ยนกันในเวทีตลอดระยะ เวลา 3 วัน
โอกาสนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หารือกับ ดร. เจิ่น แทงห์ นาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อหาแนวทางความร่วมมือกันในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรอัจริยะแห่งอนาคต รวมถึงการพัฒนาภาคการเกษตรของทั้งสองประเทศด้วย พร้อมได้เชิญชวนเข้าร่วมงานมหกรรมพืชสวนโลก 2569 ที่ไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงาน ณ จังหวัดอุดรธานี
ที่มา: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์