รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในฐานะผู้จัดงาน ผลักดันการวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และหน่วยงานที่ร่วมทำการวิจัยที่ประกอบด้วยภาคการศึกษา ภาคเอกชน และหน่วยงานวิจัยอื่นๆ เป็นที่มาของความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์โดยคนไทย และได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อให้ชาวจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียงได้มีโอกาสได้เข้ามาเยี่ยมชมและสัมผัสผลงานวิจัยด้านอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต หรือ Future Mobility ได้อย่างใกล้ชิด
รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. ได้กล่าวว่า มีความหวังว่ายานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 3 คัน ที่ได้ถูกนำมาจัดแสดงผลงานภายใต้บูท บพข. ในครั้งนี้ จะสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาในระดับที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นและประสบความสำเร็จในอนาคต ได้แก่ 1. รถโดยสารไฟฟ้า พัฒนาโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งพัฒนาเป็นรถโดยสารไฟฟ้า Intercity สำหรับวิ่งทางไกล ที่ออกแบบใหม่ทั้งคันให้มีน้ำหนักเบาและมีระบบอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว 2. รถกระบะไฟฟ้าดัดแปลง พัฒนาโดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท M-world Logistics Co.,Ltd. ที่มีการออกแบบระบบแบตเตอรี่ไว้ใต้ท้องรถ ที่สามารถต่อยอดไปสู่ระบบสลับแบตเตอรี่ได้ในระยะต่อไป และ 3. รถบรรทุกหกล้อไฟฟ้าดัดแปลง พัฒนาโดย บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีการพัฒนาระบบ Active Cooling System ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทฯ เป็นนวัตกรรมที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ โดยทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเชิงพาณิชย์ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและมีความสำคัญ
ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย เลขานุการร่วมคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. สอวช. ได้กล่าวว่า "หน่วยงานภาครัฐอยากเห็นภาคเอกชนไทย มีความสามารถและความเชี่ยวชาญระดับสูงและก้าวขึ้นสู่เวทีโลก" โดยการให้ทุนวิจัยมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน และการสนับสนุนให้เกิด Ecosystem มาตรฐานและกลไกการขยายผล นอกจากนี้ยังต้องการได้รับการผลักดันและต้องการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติมในหลายส่วน อยากสร้างและเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาคการศึกษาวิจัยและหน่วยงานภาคเอกชนไทยร่วมมือกัน เข้ามาขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยในหัวข้อที่มีความท้าทาย และเมื่อทำเสร็จแล้วอยากให้นำผลงานวิจัยเชิงพาณิชย์มาจัดแสดงเพื่อให้เป็นทางเลือกของประชาชน และผู้ที่ต้องการ Solutions ได้นำไปต่อยอดทดลองใช้งานจริงได้มากขึ้นในอนาคต
รศ.ดร.ธนัดชัย กุลวรวานิชพงษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้กล่าวว่า ได้มีการออกแบบระบบขับเคลื่อนตัวรถให้มีพละกำลังสามารถวิ่งได้เป็นอย่างดีภายใต้สภาพพื้นถนนที่มีความลาดชันและมีเส้นทางขึ้นลงอย่างต่อเนื่อง โดยจุดเด่น ของระบบขับเคลื่อนนี้ ได้มีการทดสอบระบบอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ พร้อมที่จะพัฒนาและขยายผลในเชิงพาณิชย์
คุณสุรวุฒิ เชิดชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้มีการพัฒนารถโดยสารระหว่างเมืองภายใต้แบรนด์ "เชิดชัย" และการมุ่งพัฒนาแพล็ตฟอร์มรถไฟฟ้า เพื่อสร้างองค์ความรู้เชิงลึกให้กับบริษัทให้สามารถแข่งขันได้ และสามารถรองรับเทคโนโลยีพลิกผัน EV Disruption และสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นได้ และปัจจุบันบริษัทคือผู้นำด้านการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าขึ้นมาเอง โดยที่ผ่านมาได้มีการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าจำนวน 2 คัน ได้แก่ คันแรกเป็นรถโดยสารไฟฟ้าที่ได้มีการพัฒนาร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คันที่สองเป็นรถโดยสารไฟฟ้าระบบไฮบริดร่วมกับบริษัท Hino และคันในปัจจุบันเป็นการพัฒนาคันที่สาม ร่วมกับ มทส. นับว่าเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่แก้ปัญหาของการทำรุ่นที่ผ่านมาให้มีประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ให้ดีมากยิ่งขึ้น ทั้งระบบขับเคลื่อน ระบบอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว ตัวโครงสร้างรถซึ่งได้ออกแบบให้มีน้ำหนักเบามากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นรถที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง และถ้ามี volume ความต้องการหรือมีคนสั่งผลิตรถโดยสารจำนวนมาก บริษัทมีความมั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาชิ้นส่วนสำคัญได้เองภายในประเทศเกือบครบทุกชิ้นส่วน ตอนนี้มีชิ้นส่วนเดียวที่ไม่สามารถทำได้คือเซลล์แบตเตอรี่ และนับว่ายังต้องพึ่งพาการนำเข้าแบตเตอรี่แพ็คจากประเทศจีน และเป็นส่วนที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงโดยเฉพาะในเรื่องของภาษี อยากให้รัฐบาลช่วยพิจารณามาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการ ซึ่งหากมีการปลดล๊อกเรื่องแบตเตอรี่และภาษีทำให้สามารถแพ็คได้เองภายในประเทศจะทำให้รถโดยสารไฟฟ้าของไทยสามารถแข่งขันได้ทั้งในเรื่องของคุณภาพและราคากับรถโดยสารไฟฟ้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
ผศ.ดร.อุเทน สุปัตติ หัวหน้าโครงการพัฒนาต้นแบบรถบรรทุกขนาดเล็กไฟฟ้าดัดแปลงสำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพันธมิตร บริษัท M-World Logistic โดยมี รศ.ดร.เชาวลิต มิตรสันติสุข เป็นผู้ร่วมวิจัย ได้นำเสนอต้นแบบรถบรรทุกขนาดเล็กไฟฟ้าดัดแปลง ที่พัฒนาขึ้นเพื่อการใช้งานในกิจการ Logistics และบริการจัดส่งสินค้าของบริษัท M-World Logistic จุดเด่นของรถดัดแปลงคันดังกล่าวคือได้ถูกออกแบบให้เหมาะสมต่อการใช้งานรับส่งสินค้าในเชิงพาณิชย์ ทั้งขนาดน้ำหนักการบรรทุก ความเร็ว อัตราเร่ง และระยะทางในการวิ่งต่อการอัดประจุ นอกจากนั้นแล้วยังมีการติดตั้ง Battery Pack ไว้ใต้ท้องรถ เพื่อการทรงตัวที่ดีของรถ และเพื่อรองรับการการพัฒนาต่อยอดไปสู่รถไฟฟ้าดัดแปลงที่ใช้แพล็ตฟอร์มแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้ (Swapping Battery Platform) ในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการดำเนินการอัดประจุและสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม Logistics และบริการจัดส่งสินค้าในอนาคตได้เป็นอย่างยิ่ง"
คุณพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ได้กล่าวว่า "บริษัท ฯ มียุทธศาสตร์และพันธกิจ ที่ชัดเจนในการมุ่งสู่ธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่และโมบิลิติ้แพลตฟอร์ม ผ่านทางการวิจัยพัฒนาและการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรในบริษัท ฯ และการพัฒนาโซ่คุณค่าผู้ประกอบการไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บพข. โดย บริษัท ฯ มุ่งเน้นเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในระยะแรกเนื่องจากมีความต้องการจากลูกค้าที่เป็นฐานลูกค้าเดิมจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มีฝูงรถที่ต้องการปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ภายในงบประมาณที่เหมาะสม การโชว์รถรถบรรทุกหกล้อดัดแปลงเชิงพาณิชย์ในงาน Low Carbon City & EV Expo 2022 ครั้งนี้ จึงเป็นการตอกย้ำและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ ทั้งทางด้านวิศวกรรมและด้านเศรษฐศาสตร์ อนึ่ง บริษัท ฯ ยังเน้นย้ำเรื่องของการให้บริการแบบครบวงจรที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศของไทย ได้แก่ การให้บริการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าและการบริหารไฟฟ้าจากสายส่ง การให้คำปรึกษาด้านการบริหารเส้นทางและขนาดแบตเตอรี่ที่เหมาะสม การให้บริการหลังการขาย การให้บริการด้านการจดแจ้งเปลี่ยนทะเบียน รวมถึงการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ ได้แก่ การขายชุด Conversion Kit และการเปิดสาขาแบบ Franchise พร้อมการฝึกอบรมวิศวกรและช่างชำนาญการด้าน EV Conversion" ทั้งนี้คุณพนัส วัฒนชัย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ดังนั้น บริษัท พนัส ฯ ได้มีการร่วมวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้าน Engineering, Development, and Test ของโมดูลแบตเตอรี่ กับบริษัทแบตเตอรี่ระดับโลก Contemporary Amperex Technology Co., Limited (CATL) ภายใต้ MOU ความร่วมพัฒนาธุรกิจแบตเตอรี่ในไทยและอาเซียน ตั้งแต่ วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และจะได้รับโมดูลแบตเตอรี่ภายในเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2565 เพื่อนำมาใช้กับรถบรรทุกไฟฟ้าดัดแปลงเชิงพาณิชย์ตามความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อจัดจำหน่ายทั้งในไทยและต่างประเทศ"
ภายในงานได้มีกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ "เป้าหมายการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ อนาคตยานยนต์ไฟฟ้าไทย" ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องลำตะคอง โรงแรมแคนทารี นครราชสีมา มีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาที่ห้องประชุมและที่เข้าร่วมผ่านทางโปรแกรม Zoom ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังจำนวนมาก โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของการตั้งเป้าหมายการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานไปสู่การพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น เช่น การไปสู่ Smart City ของจังหวัดขอนแก่น และการริเริ่มและการไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ของจังหวัดนครราชสีมา ที่มีจะมีการนำยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ เข้ามาใช้งานมากขึ้น ในเวทีเสวนาหัวข้อ "อนาคตยานยนต์ไฟฟ้าไทย กับการมุ่งสู่เป้าหมายเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่" ได้มีการให้ทิศทางการดำเนินงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ คุณกิตติศักดิ์ วรรณแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้า (PEA) กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีหน้าที่ปรับปรุงและพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความทันสมัย ปัจจุบันไทยมีรถ EV 100% ที่จดทะเบียนอยู่จำนวน 5,000 คัน คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 คัน ในอีก 5 ปีข้างหน้า จึงต้องเตรียมการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้งาน และจะมีการนำเทคโนโลยี V2H และ V2G มาใช้รองรับการใช้งานกับยานยนต์ไฟฟ้า ด้าน คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า กล่าวถึงการลดปัญหาด้านมลพิษว่า EVAT มีการสนับสนุนด้านการตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ปัจจุบัน มีสถานีชาร์จจำนวน 600 แห่ง และมี 22,000 หัวจ่าย ทั่วประเทศ ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามกำลังมีการขยายจำนวนสถานีชาร์จเพิ่มเพื่อรองรับการใช้งานรถ EV ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น EV roaming / EV consortium ร่วมกับผู้ให้บริการสถานีชาร์จ EV หลายๆ รายให้สามารถใช้งานร่วมกันได้เป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ด้าน คุณสุรวุฒิ เชิดชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ได้มีการทำงานร่วมกับหลายมหาวิทยาลัยในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อทำรถโดยสารไฟฟ้าแบบ Intercity รวมถึงได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้ประชาชนที่ใช้บริการรถบัสไฟฟ้า มีความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยในการการเดินทาง และไม่ปล่อยมลพิษ ด้าน ผศ.ดร.วิมล แสนอุ้ม ผู้อำนวยการหน่วยกลยุทธ์ธุรกิจนวัตกรรม บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ภาคเอกชนจำเป็นต้องพัฒนา 3 ส่วน คือ 1. Hardware, 2. Software, 3. Peopleware เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนไปมาก ความรู้เดิมที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอ จำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ และการพัฒนาจำเป็นต้องสร้างคนที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อให้สามารถต่อยอดทำในสิ่งที่ยากและซับซ้อนมากขึ้นเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ด้าน ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย คณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต ได้ให้ทิศทางของการให้ทุนวิจัยของ บพข. ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการไปสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ และกล่าวเสริมว่าสำหรับผู้ที่สนใจ ปัจจุบัน พบข. อยู่ระหว่างการเปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยด้าน Future Mobility จนถึงวันที่ 30 พ.ค. 2565 ผ่านช่องทาง www.pmuc.or.th
ที่มา: สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)