ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) ร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินของ EXIM BANK จำนวนรวม 2,200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุน GUNKUL และบริษัทในเครือ พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ อาทิ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน สถานีไฟฟ้าและระบบสายส่งไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจพืชเศรษฐกิจกัญชง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพ โดยมีนายฐิติพงศ์ เตชะรัตนยืนยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน GUNKUL และนายอิทธิพล เลิศศักดิ์ธนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เป็นสักขีพยาน ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ในบทบาทการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank) EXIM BANK มุ่งมั่นสนับสนุนการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New Engines) ที่ตอบโจทย์กระแสโลกในอนาคต อาทิ ธุรกิจสีเขียว ธุรกิจดิจิทัล และธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ (Green, Digital, Health : GDH) รวมถึงส่งเสริมการขับเคลื่อน BCG Economy ตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกลุ่ม GUNKUL เป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนและระบบไฟฟ้าที่ไม่เพียงนำมาซึ่งผลตอบแทนทางการเงิน แต่ยังก่อให้เกิดผลตอบแทนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจกัญชงเพื่อสุขภาพอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสในการต่อยอดให้เกิดห่วงโซ่อุตสาหกรรมใหม่และการส่งออกไปต่างประเทศในอนาคต
"การสนับสนุนทางการเงินให้แก่กลุ่ม GUNKUL ในครั้งนี้เป็นบทบาทหนึ่งของ EXIM BANK ในการเดินเกมเปลี่ยนประเทศไทย ผ่านการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูงและตอบโจทย์กระแสโลกในอนาคตในกลุ่มธุรกิจ GDH รวมถึงเสริมสร้าง BCG Economy เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต ควบคู่กับการพัฒนาในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน" ดร.รักษ์ กล่าว
โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Economy) เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก ได้แก่ B ย่อมาจาก B - Bio Economy เน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า,C - Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน นำกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ,G - Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว ลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน
ที่มา: กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง