ในเชิงกลยุทธ์ แนะ Wait & See หลังขายทำกำไรหุ้นไปแล้ว และรอการตั้งรับใหม่ตามบริเวณแนวรับที่ให้ไว้ หรืออาจรอให้ Bond yield สหรัฐฯ 10 ปีลงมาแถวบริเวณ 2.5% เสียก่อน เนื่องจากจะทำให้ EYG ของตลาดหุ้นไทยดูดีขึ้น
นายณัฐชาต กล่าวว่า สินทรัพย์หนึ่งที่น่าสนใจในเดือนนี้คือพันธบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรระยะยาวที่มักจะเป็นสินทรัพย์ที่สามารถ Hedging ต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราประเมินว่าจะมี Probability มากขึ้นหากราคาพลังงานและราคาอาหารในตลาดโลกยังคงอยู่สูงเช่นนี้ต่อไป ที่สำคัญเราเริ่มเห็นว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่ประกาศออกมาสูงในแต่ละประเทศ เริ่มไม่ได้ยึดเหนี่ยวคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตให้ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว จึงมอง Upside ของ Bond yield ในช่วงถัดไปค่อนข้างจำกัดแล้ว นอกจากนั้น Earning yield gap ของตลาดหุ้นหลายๆประเทศตอนนี้ก็ยังอยู่ค่อนข้างต่ำ บ่งชี้ถึงความน่าสนใจของ Bond เมื่อเทียบกับหุ้นได้เป็นอย่างดี
ส่วนในรายของตัวหุ้นนั้น หากต้องเลือกลงทุน เรายังคงแนะถือครองหุ้นกลุ่ม Defensive ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Healthcare (BDMS, BCH, CHG, IMH), Consumer Staples (CPALL, MAKRO, BJC), Utilities (EGCO, RATCH, EASTW, WHAUP, BPP, CKP) โดยเริ่มชื่นชอบกลุ่ม Utilities มากขึ้น จากการมีคุณลักษณะคล้ายคลึงกับพันธบัตร (Bond-like) ค่อนข้างมาก ซึ่งเราคาดว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ Outperform ในช่วงถัดไป นอกจากนั้น หุ้นอีกกลุ่มที่น่าจะได้อานิสงส์หาก Bond yield ในช่วงถัดไปทยอยปรับลง ก็คือกลุ่ม Property Fund / REIT/ Infrastructure fund ซึ่งมองว่าค่อนข้างมีความมั่นคงในสภาวะที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ แนะนำจัดสรรน้ำหนักในพอร์ตโฟลิโอไปยังสินทรัพย์เหล่านี้มากขึ้นได้
สำหรับปัจจัยที่ทุกคนเฝ้าติดตามในเดือนนี้คงหนีไม่พ้นการประชุมของธนาคารกลางสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Fed, ECB, BoE, BoJ รวมถึงธปท. ซึ่งจากการประเมินของเรา เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์มากนัก เนื่องจากก่อนหน้านี้ นักลงทุนได้ Price in แนวนโยบายการเงินที่เข้มงวดไปอย่างมากแล้ว โดยเฉพาะ Fed ที่นักลงทุนมีการ Price in ประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 50bps ไปยัง 3 ครั้งการประชุมข้างหน้าแล้ว รวมไปถึงประเด็นการลดขนาดงบดุลด้วยเช่นกัน ส่วนทางฝั่งกนง.ที่จะมีการประชุมกันในวันที่ 8 มิ.ย.นั้น คาดว่าจะยังคงแสดงจุดยืนถึงการคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อไป แต่แนะติดตามประมาณการเศรษฐกิจรอบใหม่ ว่าจะมีการปรับลดลงอีกครั้งหรือไม่ โดยเฉพาะภาคอุปสงค์ในประเทศและดุลบัญชีเดินสะพัด หลังราคาน้ำมันยังคงยืนอยู่ในระดับสูง
ที่มา: หลักทรัพย์ ทรีนีตี้