นายสมชาย สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย ซึ่งเป็นสายการผลิตใหม่ของบริษัทในกลุ่ม KTIS ได้ดำเนินมาถึงขั้นตอนการทดสอบความราบรื่นในกระบวนการผลิตขั้นสุดท้ายแล้ว ก่อนที่จะผลิตและจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ด้วยกำลังการผลิต 50 ตันต่อวัน หรือประมาณวันละ 3 ล้านชิ้น สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับกลุ่ม KTIS ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 (ตามงวดบัญชีของบริษัทซึ่งสิ้นสุดเดือนกันยายน) และจะรับรู้รายได้เต็มปี ตั้งแต่งวดบัญชีปี 2566 เป็นต้นไป
"เราติดตั้งเครื่องจักร 50 เครื่อง ซึ่งสามารถผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อยได้หลากหลายรูปแบบ เช่น จาน ชาม กล่อง ถาดหลุม เป็นต้น และนอกจากจะผลิตภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ขนาดมาตรฐานตามความต้องการของตลาดทั่วไปแล้ว เรายังสามารถรับออร์เดอร์ที่จะขึ้นรูปภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้ด้วย หากว่าออร์เดอร์นั้นมีปริมาณมากเพียงพอและคุ้มค่าในการผลิต" นายสมชายกล่าว
ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า ในด้านของตลาดหรือลูกค้าของบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อยนั้นได้รับการติดต่อจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศหลายราย เช่น จากประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน จึงมั่นใจว่าตลาดของสินค้าจะมีความมั่นคงและเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะสอดคล้องกับเทรนด์ของโลกในเรื่องของการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
"จุดเด่นของบรรจุภัณฑ์ชานอ้อยของกลุ่มเรา นอกจากจะผลิตจากเยื่อชานอ้อยของโรงงานในกลุ่ม KTIS ที่ได้การรับรองมาตรฐานความปลอดภัยในเกรดของอาหาร (Food Grade) ไม่มีสารอันตรายในกระบวนการผลิตและการฟอกขาว แล้ว ยังเป็นเยื่อชานอ้อยใหม่ 100% ไม่มีการรีไซเคิล หรือนำเยื่อกระดาษอื่นมาผสม อีกทั้งมีคุณสมบัติในการกันซึมได้นานกว่า สามารถบรรจุของเหลวได้เป็นเวลานานโดยไม่เปื่อยยุ่ย และยังสามารถนำเข้าไมโครเวฟได้อีกด้วย เพราะทนความร้อนได้ถึง 170-180 องศาเซลเซียส ส่วนคุณสมบัติด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น บรรจุภัณฑ์ชานอ้อยสามารถย่อยสลายได้ภายในเวลา 30 วัน โดยการฝังกลบ" นายสมชายกล่าว
ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวถึงทิศทางธุรกิจในระยะเวลาที่เหลือของปี 2565 ด้วยว่า ผลการดำเนินงานในปีนี้มีแนวโน้มที่สดใส โดยสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่เคลื่อนไหวในระดับที่สูงกว่าปีก่อน อีกทั้งผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายก็มีมากกว่าปีก่อน จึงมีรายได้เติบโตขึ้นมาก ส่วนสายธุรกิจชีวภาพ ก็ได้รับผลดีจากผลผลิตอ้อยที่มากขึ้น ทำให้ได้โมลาสสำหรับผลิตเอทานอลมากขึ้น ได้ชานอ้อยที่ป้อนให้กับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลมากขึ้น เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฯ ได้ยาวนานขึ้น นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ก็ส่งผลดีกับผลิตภัณฑ์ส่งออก ทั้งน้ำตาลทราย, เยื่อกระดาษจากชานอ้อย และบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากชานอ้อยด้วย
ที่มา: ไอทูซี คอมมิวนิเคชั่นส์