สำหรับกรอบแนวทางความร่วมมือของ วว. และ ธ.ก.ส. ประกอบด้วย 1) การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร ให้เกษตรกรนำไปใช้สร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยร่วมมือกันส่งเสริมให้เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ และผู้มีความประสงค์สืบทอดอาชีพเกษตรกรรม นำผลงานวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ปรับปรุงพัฒนาการผลิต การแปรรูป และการตลาด รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากงานบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการรับรองมาตรฐานการผลิต 2) ร่วมส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการปรับปรุง พัฒนาการผลิต การแปรรูปการเกษตร การแปรรูปเกษตรทางเลือกใหม่ และการตลาดของเกษตรกร รวมถึงการป้องกัน บรรเทา และแก้ปัญหาของเกษตรกร 3) ส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ผนวกองค์ความรู้สมัยใหม่ และจัดให้มีเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายผลการนำไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดสู่การจดทะเบียนสิทธิบัตร 4) จัดฝึกอบรม การประชุมวิชาการ เผยแพร่บทความทางวิชาการ หรือโครงการให้คำปรึกษา แนะนำแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โดยมุ่งเน้นการนำความรู้และผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ 5) สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับสินค้าเกษตรไทยสู่ระดับสากล เป็นต้น
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. ถือเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นกลไกหลักของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกร ผู้ประกอบการให้เข้มแข็ง ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG ของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม ในการดำเนินงานยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ กระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็งและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ วว. มีศักยภาพและความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร องค์ความรู้ เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนผลงานและประสบการณ์ในด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ยึดมั่นและให้ความสำคัญกับการนำ วทน. เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศ มุ่งดำเนินงานสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร (Total Solution) พัฒนาวิสาหกิจในทุกระดับทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ (Area Based) ประสบผลสำเร็จในการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ภาคเกษตรและชุมชน ดำเนินงานสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง พลังงานและสิ่งแวดล้อม
" ...วว. พร้อมเป็นที่ปรึกษาให้แก่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตร ที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วหรือยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล พร้อมให้คำปรึกษา วิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการยกระดับและพัฒนาให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมเกษตรใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านเกษตรมูลค่าสูง 2.ด้านพืชเศรษฐกิจใหม่ 3.ด้าน FTA โคนม 4.ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และ 5.ด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึง วว. มีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็น Shared service ทั้งด้านอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งพร้อมให้บริการตอบโจทย์ความต้องการของ Start up และผู้ประกอบการ ให้ได้ทดลองผลิตสินค้าจากไอเดียของท่าน แล้วนำผลิตภัณฑ์ไปทดลองจำหน่ายในท้องตลาดก่อน โดยที่ท่านไม่ต้องลงทุนในเรื่องเครื่องจักร หรือการสร้างโรงงาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการบูรณาการผสานความร่วมมือจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่าย ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการกระจายเทคโนโลยีไปปรับใช้ในวงกว้างและทั่วถึง อีกทั้งยังส่งผลดีต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการตลาด ร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป..." ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุป
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ความร่วมมือกับ วว. ในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการดำเนินงานในการพัฒนาสนับสนุนให้เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผนวกกับองค์ความรู้สมัยใหม่ โดยนำผลงานวิจัยทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับปรุง พัฒนาการผลิต การแปรรูปผลผลิต และการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรอย่างตรงจุด รวมถึงการประยุกต์ต่อยอดสู่การจดทะเบียนสิทธิบัตร เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล รวมทั้งยังจะร่วมกันจัดฝึกอบรม การประชุมวิชาการ การเผยแพร่ประสบการณ์และการร่วมประชาสัมพันธ์ เพื่อให้สินค้า ผลผลิต จากเกษตรกรไทยเป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ
" ธ.ก.ส. ได้ร่วมมือกับ วว. และ EXIM Bank ระหว่างปี 2561-2564 เราเข้าไปเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 30 ราย อาทิ วิสาหกิจชุมชนกาแฟรัษฏา ผลิตชา กาแฟ สบู่กาแฟ กาแฟคั่ว วิสาหกิจชุมชนลองเลย ผลิตกาแฟอาราบิก้า วิสาหกิจชุมชนออมสินกะลา ผลิตภัณฑ์จากกะลา บริษัท แบมบุรีฟอร์ม จำกัด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไผ่ และถ่านไม้ไผ่ บริษัทซันโฟรเช่น ฟรุ๊ต จำกัด ผลิตทุเรียนและมังคุด บริษัทบ้านขนมไทยอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผลิตขนมกล้วยหอมทองทอดกรอบ เป็นต้น สามารถช่วยยกระดับคุณภาพการผลิตให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการด้านการเกษตร เป็นรูปธรรม เราจึงวางเป้าหมายเพื่อขยายแนวทางดำเนินงาน เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคเกษตรไทย ควบคู่กับการเติมทุนผ่านสินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ เป็นต้น เพื่อขยายโอกาสและการผลิตที่นำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคงต่อไป..." ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว
วว. พร้อมให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้คำแนะนำปรึกษาด้านธุรกิจ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน เสริมแกร่งเกษตรกร ผู้ประกอบการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์ www.tistr.or.th E-mail : [email protected] line@TISTR IG : tistr_ig
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย