สำหรับงบประมาณในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับจัดสรรงบประมาณ รวม 127,192.4577 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 16,289.8896 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15) เมื่อจำแนกประเภทของงบประมาณ ในแต่ละด้านตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวข้องรวม 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านความมั่นคง จำนวน 277.2521 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านการประมง ป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) และพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 43,952.4636 ล้านบาท ดำเนินการในเรื่องเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป เกษตรอัจริยะ และส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร เพื่อเสริมสร้างให้การพัฒนาภาคเกษตรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 3) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 2,079.0006 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในเรื่องส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการหลวง ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร และบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส 4) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 80,883.7414 ล้านบาท เพื่อดำเนินการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งการบริหารจัดการพื้นที่ชลประทานเดิม การป้องกันระดับน้ำเค็ม การปฏิบัติการฝนหลวง จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และการลดการเผาในพื้นที่เกษตร
ด้าน ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับโครงการที่สนับสนุนแผนแม่บทประเด็นการเกษตร โดยมีโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพ จำนวน 19 โครงการ รวม 2,587.8580 ล้านบาท อาทิ โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรชีวภาพ โครงการ 1 อำเภอ 1 แปลง เกษตรอัจฉริยะ โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการยกระดับสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร และยังมีโครงการที่สนับสนุนแผนแม่บทอื่น ๆ จำนวน 29 โครงการ รวม 72,846.6103 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการในเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ รวมถึงงานตามภารกิจพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็น จำนวน 3,478.1119 ล้านบาท อาทิ การป้องกันโรคระบาด การจัดที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อย การพัฒนาพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งพืช ประมง และปศุสัตว์ การส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร การจัดทำข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการทางการเกษตร
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังเป็นเจ้าภาพหลักแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เพื่อพัฒนาศักยภาพของประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้สูงขึ้น โดยได้รับจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการ จำนวน 14 โครงการ รวม 1,474.3347 ล้านบาท อาทิ โครงการบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร โครงการส่งเสริมการพัฒนากลไกและโครงสร้างดูดซับมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้กลับสู่ท้องถิ่น
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเน้นขับเคลื่อนภารกิจแผนงาน/โครงการให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี รายได้สุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ สินค้าเกษตรได้รับการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งทรัพยากรการเกษตรมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ได้รับการอนุรักษ์ปรับปรุงและฟื้นฟูให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน
ที่มา: สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร