ความสงบสุขทั่วโลกต่ำสุดในรอบ 15 ปี เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจหลังโควิดและความขัดแย้งในยูเครน

พุธ ๑๕ มิถุนายน ๒๐๒๒ ๑๑:๑๕
สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics & Peace หรือ IEP) ซึ่งเป็นหน่วยงานมันสมองระดับโลก เผยแพร่รายงานดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index หรือ GPI) ฉบับที่ 16

ผลการค้นพบที่สำคัญ

  • ยอดผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งภายนอกประเทศพุ่งขึ้นหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน
  • สถานการณ์การขยายอิทธิพลทางทหารดีขึ้นใน 113 ประเทศ นับตั้งแต่ปี 2551 แม้จะยังมีการทำสงครามอยู่ก็ตาม
  • สถานการณ์การก่อการร้ายดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 70 ประเทศไม่มีรายงานการโจมตีในปี 2564 ซึ่งถือว่าดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551
  • ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองทั่วโลก โดยแอฟริกา เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง เผชิญกับภัยคุกคามมากที่สุด
  • การก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ความไม่มั่นคงทางการเมือง ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ มีคะแนนย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีสันติภาพโลก
  • ผลกระทบจากความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจโลกมีมูลค่า 16.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วน 10.9% ของจีดีพีทั่วโลก หรือ 2,117 ดอลลาร์ต่อคน 

ผลกระทบจากสงครามในยูเครนที่มีต่อความสงบสุข

  • รัสเซียและยูเครนติดกลุ่ม 5 ประเทศที่มีความสงบสุขย่ำแย่ลงมากที่สุด
  • โซเชียลมีเดียได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ปัจจุบันมีการแชร์ข้อมูลดิบทันทีโดยแทบไม่มีการวิเคราะห์
  • ทัศนคติเชิงบวกในยูเครนเพิ่มขึ้นในปี 2564 สวนทางกับกระแสโลก ขณะที่การสนับสนุนโลกตะวันตกค่อนข้างเข้มแข็ง โดย 58% ต้องการเข้าร่วมสหภาพเศรษฐกิจโลกตะวันตก และ 54% สนับสนุนการเข้าร่วมนาโต

รายงานดัชนีสันติภาพโลก ฉบับที่ 16 ซึ่งเป็นรายงานชั้นนำของโลกที่ชี้วัดความสงบสุขทั่วโลก ได้เผยให้เห็นว่า ระดับความสงบสุขโดยเฉลี่ยทั่วโลกลดลง 0.3% ในปี 2564 นับว่าลดลงเป็นครั้งที่ 11 ในรอบ 14 ปี โดย 90 ประเทศมีความสงบสุขมากขึ้น ขณะที่ 71 ประเทศมีความสงบสุขลดลง แต่รายงานระบุว่าความสงบสุขลดลงในอัตราที่เร็วกว่าความสงบสุขเพิ่มขึ้น 

ไอซ์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลก โดยครองตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2551 ตามมาด้วยนิวซีแลนด์ ไอร์แลนด์ เดนมาร์ก และออสเตรีย ขณะที่อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลกเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ตามมาด้วยเยเมน ซีเรีย รัสเซีย และเซาท์ซูดาน นอกจากนี้ รายงานระบุว่า 7 จาก 10 ประเทศที่สงบสุขที่สุดเป็นประเทศในยุโรป โดยตุรกีเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ไม่ติดอันดับในครึ่งแรกของดัชนี

รัสเซียและยูเครนติดกลุ่ม 5 ประเทศที่มีความสงบสุขย่ำแย่ลงมากที่สุด ส่วนอีกสามประเทศประกอบด้วยกินี บูร์กินาฟาโซ และเฮติ โดยทั้งหมดเป็นผลมาจากความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น

เมื่อพิจารณาจาก 23 ปัจจัยชี้วัดของดัชนีสันติภาพโลก พบว่าปัจจัยที่ย่ำแย่ลงที่สุดคือความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ความรุนแรงของความขัดแย้งภายใน ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ การก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง โดย 28 ประเทศมีความไร้เสถียรภาพในระดับสูง และ 10 ประเทศมีคะแนนการก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางการเมืองในระดับย่ำแย่ที่สุด

ความเหลื่อมล้ำด้านความสงบสุขยังคงเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยนับตั้งแต่ปี 2551 กลุ่ม 25 ประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดมีความสงบสุขลดลงเฉลี่ย 16% ขณะที่กลุ่ม 25 ประเทศที่มีความสงบสุขมากที่สุดมีความสงบสุขเพิ่มขึ้น 5.1% และนับตั้งแต่ปี 2551 มี 116 ประเทศที่อัตราการฆาตกรรมลดลง

ผลกระทบจากความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจโลกมีมูลค่า 16.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วน 10.9% ของจีดีพีทั่วโลก หรือ 2,117 ดอลลาร์ต่อคน โดยในกลุ่ม 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมากที่สุดนั้น พบว่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 34% ของจีดีพี เทียบกับ 3.6% ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยชี้วัดหลายอย่างปรับตัวดีขึ้น รวมถึงผลกระทบจากการก่อการร้าย อาวุธนิวเคลียร์และอาวุธหนัก การเสียชีวิตจากความขัดแย้งภายใน ค่าใช้จ่ายทางทหาร อัตราการกักขัง และการรับรู้เกี่ยวกับอาชญากรรม โดยผลกระทบจากการก่อการร้ายอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีสันติภาพโลก

คุณสตีฟ คิลเลเลีย (Steve Killelea) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ กล่าวว่า "เมื่อปีที่แล้วเราได้เตือนเรื่องเศรษฐกิจทรุดอันเป็นผลมาจากโควิด-19 ส่วนในปีนี้เรากำลังประสบกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน เงินเฟ้อพุ่งสูง และความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์อันน่าเศร้าในยูเครน โดยผลกระทบทางการเมืองและเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า"

"เมื่อรวมกับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่ย่ำแย่ ความไม่มั่นคงทางการเมือง และความรุนแรงของความขัดแย้งภายในแล้ว รัฐบาล องค์กร และผู้นำประเทศต่าง ๆ ต้องอาศัยพลังของสันติภาพในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น"

"ความสงบสุขที่หายไปได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักที่สุดในปี 2564 และเราจำเป็นต้องเปลี่ยนทิศทางดังกล่าว โดยรายงานดัชนีสันติภาพโลกแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีทัศนคติ ขนบธรรมเนียม และโครงสร้างที่เอื้อต่อการสร้างและรักษาความสงบสุขในสังคม คือประเทศที่มีผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้น"

การขยายอิทธิพลทางทหารและสงครามยูเครน

ค่าใช้จ่ายทางทหารเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีลดลงใน 94 ประเทศ ขณะที่ 112 ประเทศลดจำนวนทหารนับตั้งแต่ปี 2551 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย รวมถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศสมาชิกนาโตจะเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหารเป็น 2% ของจีดีพี อาจทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงในอีกหลายปีต่อจากนี้ ส่วนทางด้านจีนก็มีแผนเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหารราว 7.1% ในปี 2565

รายงานระบุว่าประชาชนมีมุมมองบวกต่ออนาคตเพิ่มขึ้น โดยจำนวนคนที่รู้สึกว่าจะมีอนาคตที่ดีเพิ่มขึ้นสามเท่าจากปี 2562 แต่กลับมีเพียง 20% ที่รู้สึกว่ารัฐบาลสามารถรับมือกับหายนะได้ นอกจากนี้ สัดส่วนชาวรัสเซียที่รู้สึกปลอดภัยขึ้นเมื่อเทียบกับห้าปีก่อนหน้าก็ลดลงในช่วงปี 2562-2564 ด้านชาวรัสเซียที่รู้สึกกังวลเรื่องเศรษฐกิจมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า* 

ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงรู้สึกได้อย่างชัดเจน และส่งผลกระทบอย่างมากต่อดัชนีสันติภาพโลก โดยหลายประเทศในยุโรปที่อยู่ใกล้กับรัสเซียมีคะแนนความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านย่ำแย่ลง ได้แก่ ฟินแลนด์ สวีเดน โรมาเนีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และมอลโดวา

สงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีในการกำหนดทิศทางของความขัดแย้ง โดยเทคโนโลยีมือถือ 5G รวมถึงการปฏิวัติโซเชียลมีเดีย และโดรนที่มีราคาถูกลงมาก ได้เข้ามาพลิกโฉมการทำสงคราม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระยะหลังเปลี่ยนจากการรอรับข้อมูลที่ผ่านการคัดกรองไปสู่การรวบรวมข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียแบบเรียลไทม์ ข้อมูลที่ได้จึงไหลมาเรื่อย ๆ และเป็นข้อมูลดิบที่แทบไม่มีการตรวจสอบ

เศรษฐกิจโลกและการชุมนุมที่มีความรุนแรง

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยหลายประเทศที่ค่อย ๆ มีความสงบสุขมากขึ้นกลับต้องประสบกับการประท้วงและการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงซึ่งพุ่งเป้าไปที่การรับมือกับโรคระบาดของรัฐบาล

การชุมนุมที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น 49% นับตั้งแต่ปี 2551 โดย 126 จาก 163 ประเทศมีคะแนนย่ำแย่ลง ซึ่งแนวโน้มนี้เกิดขึ้นทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาคยกเว้นตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบมีคะแนนการชุมนุมที่มีความรุนแรงย่ำแย่ลงมากที่สุด แต่คะแนนก็ยังดีกว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอื่น ๆ

เอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่มีความถี่และความรุนแรงของการชุมนุมที่มีความรุนแรงมากที่สุด โดยทั้งอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ และปากีสถาน มีคะแนนในส่วนนี้สูงสุดนับตั้งแต่จัดทำดัชนีสันติภาพโลก ส่วนในยุโรปมีการประท้วงต่อต้านการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะในเบลเยียม ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย โครเอเชีย และสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับในอเมริกาเหนือ

ความขัดแย้งและการพลัดถิ่น

คะแนนความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นย่ำแย่ลง 9.3% ซึ่งมากที่สุดในบรรดาปัจจัยชี้วัดสามกลุ่มหลักนับตั้งแต่ปี 2551 โดยจำนวนประเทศที่ประสบกับความขัดแย้งภายในเพิ่มขึ้นจาก 29 เป็น 38 ประเทศ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งภายในลดลงนับตั้งแต่ปี 2560 ด้านจำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 31 ล้านคนในปี 2551 เป็นกว่า 88 ล้านคนในปี 2565

มีอยู่ 17 ประเทศที่ประชากรอย่างน้อย 5% เป็นผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ โดยเซาท์ซูดานมีประชากรกว่า 35% ที่เป็นผู้พลัดถิ่น ขณะที่โซมาเลียและสาธารณรัฐแอฟริกากลางมีมากกว่า 20%  

ภาพรวมในระดับภูมิภาค  

  • รัสเซียและยูเรเชียมีความสงบสุขลดลงมากที่สุด เนื่องจากคะแนนการเสียชีวิตจากความขัดแย้ง ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และการก่อการร้ายที่มีแรงจูงใจทางการเมืองย่ำแย่ลง
  • เอเชียใต้ยังคงเป็นภูมิภาคที่สงบสุขน้อยที่สุดเป็นอันดับสอง แต่มีความสงบสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุด เนื่องจากคะแนนความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นปรับตัวดีขึ้น
  • เอเชียแปซิฟิกมีความสงบสุขมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยชี้วัดสามกลุ่มหลักดีขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของความปลอดภัยและความมั่นคง ส่วนในอเมริกาเหนือนั้น สหรัฐอเมริกายังคงมีความสงบสุขน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 เนื่องจากความไม่สงบภายในประเทศเป็นหลัก
  • อาชญากรรมรุนแรงในอเมริกากลางและแคริบเบียนเพิ่มขึ้น 4.4% ในปี 2565 แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 โดยเฮติย่ำแย่ลงที่สุดในภูมิภาค
  • ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีความสงบสุขเพิ่มขึ้นมากเป็นอันดับสองของโลก และลิเบียมีความสงบสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก ส่วนเยเมนรั้งตำแหน่งประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในภูมิภาคเป็นปีที่สองติดต่อกัน
  • แอฟริกาใต้สะฮารามีความสงบสุขลดลง 1% โดยเซาท์ซูดานยังเป็นประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในภูมิภาค แม้ว่าสถานการณ์ในภาพรวมจะดีขึ้นก็ตาม โดยความขัดแย้งภายในประเทศยังอยู่ในระดับสูง แต่การเสียชีวิตจากความขัดแย้งภายในประเทศดีขึ้น 15%

ดูข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดรายงานดัชนีสันติภาพโลกประจำปี 2565 ได้ที่ visionofhumanity.org และ economicsandpeace.org

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

*ข้อมูลจากผลสำรวจความเสี่ยงทั่วโลกโดยลอยด์ส รีจิสเตอร์ ฟาวน์เดชัน (Lloyd's Register Foundation) / สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP)

ดูรายงานดัชนีสันติภาพโลกฉบับเต็ม บทความ และแผนที่อินเทอร์แอคทีฟได้ที่ www.visionofhumanity.org 

ทวิตเตอร์: @globpeaceindex

เฟซบุ๊ก: www.facebook.com/globalpeaceindex 

เกี่ยวกับดัชนีสันติภาพโลก

รายงานดัชนีสันติภาพโลก (GPI) จัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดในปัจจุบันเกี่ยวกับความสงบสุข คุณค่าทางเศรษฐกิจ แนวโน้ม และการพัฒนาสังคมที่สงบสุข รายงานนี้ครอบคลุมประชากรโลก 99.7% และใช้ปัจจัยชี้วัดเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ 23 ประการจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูงเพื่อจัดทำดัชนี โดยปัจจัยชี้วัดเหล่านี้ถูกแบ่งเป็นสามกลุ่มหลัก ได้แก่ ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น ความปลอดภัยและความมั่นคง และการขยายอิทธิพลทางทหาร

เกี่ยวกับสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองอิสระระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อสันติภาพ ในฐานะมาตรการเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและทำได้จริงเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ทางสถาบันมีสำนักงานในซิดนีย์ บรัสเซลส์ นิวยอร์ก เฮก เม็กซิโกซิตี้ และฮาราเร



ที่มา:  พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑ เม.ย. สุขสนุกกับเทศกาลอีสเตอร์ด้วย Boozy Bunnies Brunch ที่ The Standard Grill
๑๑ เม.ย. Mrs. GREEN APPLE วงป็อปร็อกญี่ปุ่นชื่อดัง ส่งเพลงใหม่ KUSUSHIKI ฉลองครบรอบ 10 ปีอย่างยิ่งใหญ่เต็มรูปแบบ
๑๑ เม.ย. แลคตาซอย ส่งมอบนมถั่วเหลืองกว่า 70,000 กล่อง เสริมพลังกาย สร้างกำลังใจให้คนทุ่มเท ในการเดินทางช่วงสงกรานต์ 68
๑๑ เม.ย. สถาปนิก'68 เตรียมเปิดเวที ASA International Forum 2025 เชิญกูรูต่างประเทศร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ
๑๑ เม.ย. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ทุ่มงบกว่า 1 ล้านบาท ลงพื้นที่ สร้างสุข ใส่ใจ ผู้สูงวัย ในสถานสงเคราะห์ พร้อมแจกจ่าย ชุดของขวัญคลายร้อน
๑๑ เม.ย. คปภ. ทำงานร่วมกับ กทม. ลงพื้นที่ประสานงานกรณีตึกถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เร่งตรวจสอบสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยเพื่อดูแลผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน
๑๑ เม.ย. โบว์-วิน สาดออร่าคู่! เนรมิตสงกรานต์ไอคอนสยามสุดอลังการ ในลุคนางสงกรานต์-เทพบุตรสุดปัง! พิธีเปิดงาน ICONSIAM THAICONIC SONGKRAN CELEBRATION 2025
๑๑ เม.ย. รายการ หนูทดลอง Little Explorers EP ล่าสุด ชาบูโชว์ฝีมือการเป็นเชฟทำอาหาร และพาไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์สำหรับเด็ก
๑๑ เม.ย. ย้อนความเป็นมาวันสงกรานต์ พร้อมมีช่วงเวลาดี ๆ ไปกับวันเดอร์พัฟฟ์
๑๑ เม.ย. มหาสงกรานต์ ไอคอนสยาม เริ่มแล้ว!!! สัมผัสประสบการณ์สาดความสุข สนุกสไตล์ไทย ICONSIAM THAICONIC SONGKRAN CELEBRATION