นายวัฒน์ธวุฒิ เอื้อภูมิรัตน์ ผู้อำนวยการสายงาน Supply Chain และระบบการผลิต บริษัท ยูอาร์ซี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "น้ำ ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในภาคการผลิต และการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะสำหรับยูอาร์ซี ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตขนมขบเคี้ยวที่มีการใช้น้ำเป็นส่วนใหญ่ของกระบวนการผลิต ด้วยความจำเป็นของการใช้น้ำปริมาณมาก จึงเป็นที่มาของการสานต่อโครงการ 'Water for All' ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี โดยมุ่งความสำคัญไปที่การลดปริมาณการใช้น้ำ (Reduce) ซึ่งเป็นไปตามหนึ่งในหลักการ 3Rs Water เพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์การบริหารทรัพยากรน้ำให้ได้เต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยยังคงให้ความสำคัญในเรื่องการส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีให้แก่ผู้บริโภคชาวไทยทุกคน ตามคุณค่าที่บริษัทยึดถือคือ 'Delight Everyone with Good Food Choices' ไปพร้อมกับการดูแลใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม"
โครงการ 'Water for All' ของยูอาร์ซี ประเทศไทย เกิดจากการตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำ โดยรายงานของ CDP GLOBAL WATER REPORT 2020[ CDP หรือ Disclosure Insight Action (ก่อนหน้านี้เป็นที่รู้จักในชื่อ Carbon Disclosure Project) เป็นองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทำงานในด้านการเปิดเผยข้อมูลระดับโลกสำหรับนักลงทุน บริษัท เมือง รัฐ และภูมิภาคต่างๆ เพื่อจัดการกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภาคเศรษฐกิจระดับโลกมีมุมมองต่อ CDP เปรียบเสมือนมาตรฐานทองคำของการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมด้วยชุดข้อมูลที่ครบถ้วนและครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับการดำเนินการขององค์กรและเมือง] พบว่า บริษัทที่ยังไม่ริเริ่มลงทุนในการบริหารจัดการน้ำอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 5 เท่าของการลงทุนบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหามีมูลค่าสูงกว่าการวางแผนการดำเนินงานอย่างครอบคลุม
ตัวอย่างของการดำเนินงานในโครงการ 'Water for All' ที่เป็นไปตามหลักการ 3Rs Water ประกอบด้วย
- การลดการใช้น้ำ (Reduce) ผ่านการปรับเปลี่ยนวิธีการล้างอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการใช้น้ำปริมาณน้อยลง เช่น การเช็ดคราบไขมันก่อนล้างซึ่งช่วยให้สามารถลดปริมาณการใช้น้ำในการทำความสะอาดลงโดยประสิทธิภาพการทำความสะอาดยังคงเดิม นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนทางด้านวิศวกรรมผ่านการเพิ่มหรือดัดแปลงอุปกรณ์ เครื่องจักรที่สามารถช่วยให้เกิดการใช้น้ำได้อย่างคุ้มค่า
- การนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) หรือการหมุนเวียนน้ำจากกระบวนการหนึ่งมาใช้ในอีกกระบวนการหนึ่ง เพื่อใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การนำน้ำสุดท้ายของกระบวนการ CIP (Clean in Place) ซึ่งเป็นน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วแต่มีอัตราการปนเปื้อนที่ต่ำและสามารถนำมาใช้ในกระบวนการดำเนินงานบางขั้นตอนได้ เช่น ใช้ทำความสะอาดพาเลทวางสินค้า โดยน้ำที่นำกลับมาใช้ซ้ำเป็นน้ำที่อยู่ในเกณฑ์สะอาด และยังช่วยลดปริมาณการใช้น้ำใหม่ในกระบวนการล้างได้อีกด้วย
- การนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Recycle) บริษัทมีกระบวนการบำบัดน้ำเสียเบื้องต้น (Effluent) ในบ่อบำบัดภายในโรงงาน จากนั้นน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดเบื้องต้นจะถูกส่งต่อให้บ่อบำบัดกลางของการนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครนำไปบำบัดต่อ เพื่อให้ได้ค่าความสะอาดมาตรฐานก่อนส่งออกไปยังแหล่งน้ำชุมชนต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วบางส่วนกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น นำไปรดน้ำต้นไม้ หรือทำความสะอาดพื้น เป็นต้น
ผลจากการริเริ่มการบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนากระบวนการมาอย่างต่อเนื่องทำให้ยูอาร์ซี ประเทศไทย สามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้ทั้งสิ้น 25,839 ลบ.ม. หรือลดลง 9.17% จากปี 2020 และประหยัดงบประมาณการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้น้ำอย่างประหยัดและการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ ในภาพรวมบริษัทสามารถบรรลุปริมาณการใช้น้ำต่อการผลิตสินค้าอยู่ที่ 3.05 ลบ.ม. ต่อหน่วยการผลิต 1 ตัน โดยในปี 2022 นี้ ยูอาร์ซี ประเทศไทยยังคงมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการใช้น้ำต่อผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 2% ในทุกๆ ปี
'Water for All' ภายใต้การดำเนินงานของ ยูอาร์ซี ประเทศไทย ไม่เพียงประสบความสำเร็จในด้านการลดต้นทุนในกระบวนการผลิตและการดำเนินตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัท แต่โครงการดังกล่าวยังสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกส่วน ซึ่งได้แก่ พนักงาน ที่เกิดการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรและเกิดการสร้างนิสัยเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ภาครัฐ การดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพของบริษัทเอกชน มีส่วนช่วยให้ภาครัฐสามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้ดีขึ้นในระดับอุตสาหกรรม และชุมชน ที่มั่นใจได้ว่ามีการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานผลิตที่ลดลง และช่วยให้เกิดการฟื้นฟูระบบนิเวศโดยรอบชุมชนในระยะยาว
ความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของยูอาร์ซี ประเทศไทย ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ได้รับการยอมรับผ่านรางวัลต่างๆ ในระดับประเทศ อาทิ การรับรองระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (ISO14001: 2015) จาก Intertek Certification limited หน่วยงานตรวจประเมิน และรับรองระบบมาตรฐาน, การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) จากกระทรวงอุตสาหกรรม และรางวัลธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมปี 2021 (Environmental Good Governance award) จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยูอาร์ซี กรุณาคลิกไปที่เว็บไซต์ http://www.urcthailand.com/ หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/urcthailandofficial
ที่มา: ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์