สอศ.ร่วมกับภาคเอกชนเสริมความแข่งแกร่งพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ

พฤหัส ๑๖ มิถุนายน ๒๐๒๒ ๑๐:๐๕
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนาโมเดลการศึกษาด้านเกษตรอัจฉริยะ(STEM Career Academies - Smart Agriculture) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กลุ่มมิตรผล และ บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล และนางสาวพนัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้เริ่มก่อตั้งและผู้บริหารด้านธุรกิจ บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลง พร้อมด้วยนายราตรีสวัสดิ์ ธนานันต์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นางสาวเกศรา อมวุฒิวร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการ ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นายวรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล นายธราณิศ ประเสริฐศรี หัวหน้าทีมพัฒนาเทคโนโลยี บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามเป็นพยาน ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงบทบาทกระทรวงศึกษาธิการ ในการผลักดันอาชีพด้านการเกษตรว่า "กระทรวงศึกษาธิการตระหนักดีว่าการเกษตรสมัยใหม่ คืออนาคตของประเทศ ดังนั้นเราจึงสนับสนุนการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถที่เท่ากันการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้เรายังมุ่งส่งเสริมองค์ความรู้ด้าน Smart Agriculture พร้อมยกระดับมาตรฐานบุคลากรด้านการเกษตรตามนโยบายที่ต้องการยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มอาชีพอุตสาหกรรม S-Curve ในภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21"

การผนึกกำลังครั้งล่าสุดกับภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมทักษะอาชีพสาขาการเกษตรถือเป็นจุดหมายสำคัญอีกก้าวหนึ่งของโครงการเพื่อปั้นเกษตรกรนักพัฒนารุ่นใหม่ในอนาคตผ่านการต่อยอดองค์ความรู้ Smart Agriculture ให้เป็นโมเดลออกไปในระดับประเทศ และนำไปต่อยอดปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ โดยการส่งมอบองค์ความรู้ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพเชิงเกษตรกรรมของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ให้ผู้เรียนที่ได้ฟูมฟักและพัฒนาทักษะเกษตรอัจฉริยะขั้นสูง ได้กลับมาพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าว และขยายผลองค์ความรู้สู่ระดับประเทศ

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาโมเดลสะเต็มศึกษาสู่โลกอาชีพ หรือ STEM Career Academies ของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" ที่ได้ดำเนินโครงการฯ มาเป็นเวลา 8 ปี ซึ่ง STEM Career Academies เป็นโครงการในระยะที่สองที่ดำเนินการโดยเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาล โดยมีศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(SEAMEO STEM-ED) ร่วมพัฒนาและบริหารโครงการดังกล่าวตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2563 อีกทั้งยังตั้งใจพัฒนาสะเต็มศึกษาอย่างเต็มที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบโอกาส รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและการศึกษาของเยาวชนผู้ที่จะเติบโตเป็นอนาคตของประเทศ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้มุ่งพัฒนา 4 กลุ่มอาชีพสำคัญ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้านคอมพิวเตอร์ ไอที การศึกษา และเกษตรอัจฉริยะ เพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพ พร้อมพัฒนาครูและบุคลากรทั้ง Ecosystem ของการศึกษา ในการสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ด้านดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า"การส่งเสริมโอกาส พัฒนาศักยภาพผู้เรียนการอาชีวศึกษา การฝึกอบรมวิชาชีพระดับฝีมือ เทคนิคและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับให้ผู้เรียนอาชีวศึกษามีคุณภาพได้มาตรฐานสากล เป็นภารกิจหลักที่สำคัญของสำนักานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังอชีวศึกษา ที่ต้องผลิตผู้เรียนให้มีทักษะ และคุณลักษณะที่พร้อมซึ่งจะตอบสนองต่อความต้องการในการผนึกกำลังของภาคส่วนต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้น การผสมผสานนวัตกรรมเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมุ่งเน้นสู่การเกษตรแบบการเพิ่มมูลค่าและความยั่งยืนด้วยการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตอบโจทย์ทั้งในภาคการผลิตเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และสอดรับกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด"

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่ออีกว่า ความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะด้านสะเต็มที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญของการต่อยอดทักษะการสร้างกระบวนการคิดเชิงนวัตกรรมให้กับสถานศึกษา และเยาวชนรุ่นใหม่ ได้ศึกษาวิธีการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ ขอขอบคุณ หน่วยงานและภาคีเครือข่ายภายใต้ความร่วมมือที่มอบนวัตกรรมเพื่อการเกษตร แก่วิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น เพื่อเป็นโมเดลนำร่องสู่การสร้างเกษตรกรนักพัฒนายุคใหม่ เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ซึ่งเป็นนวัตกรรม และต่อยอดการสร้างกระบวนการคิดนวัตกรรม จึงเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาศักยภาพให้กับครู บุคลากร และผู้เรียน ที่จะยกระดับการเรียนรู้ เพิ่มสมรรถนะ ขีดความสามารถ พัฒนาอาชีวศึกษาสู่ความเป็นเลิศ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ศึกษาวิธีการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเกษตรกรมากขึ้น นอกจากนี้วิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น จะเป็นฐานการเรียนรู้ในเรื่องของการเกษตรให้กับวิทยาลัยเกษตรและคนทั่วประเทศ

นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของเชฟรอนในการยกระดับองค์ความรู้ด้านการเกษตรว่า "เชฟรอน ในฐานะหนึ่งในบริษัทพลังงานระดับโลก มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์อันมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ โดยเราเชื่อว่าองค์ความรู้และทักษะด้านสะเต็มศึกษาเป็นรากฐานการศึกษาที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรมของประเทศได้ โดยเกษตรอัจฉริยะเป็นหนึ่งในสาขาอาชีพในโครงการ สะเต็มศึกษาสู่โลกอาชีพ "STEM Career Academies" ที่เรามุ่งพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เท่าทันโลก ผ่านการขับเคลื่อนการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับ พันธมิตรชั้นนำทางด้านการเกษตร และองค์กรด้านการศึกษาอย่างวิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น ที่มุ่งสร้างบุคลากรที่มีความเป็นเลิศด้านเกษตรอุตสาหกรรม และเป็นวิทยาลัยที่เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) อย่างแท้จริง โดยเราตั้งเป้าร่วมยกระดับโมเดลการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของอาชีวศึกษาแบบองค์รวม พร้อมนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และทักษะทางเทคโนโลยีมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ทางการปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้เรียนอาชีวศึกษาด้านเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยมีเป้าหมายขยายผลสัมฤทธิ์ของโครงการไปในวงกว้าง และนำไปเป็นแม่แบบให้องค์ความรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่ทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษาด้านการเกษตรอัจฉริยะให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งสู่การแข่งขันระดับโลก"

ในการขับเคลื่อนโมเดลระบบการศึกษา ได้เกิดจากการวางรากฐานสะเต็มศึกษา ภายใต้โครงการ "Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" ซึ่งเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน โดยเน้นพัฒนาทักษะครูให้มีการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ปรับหลักสูตรทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปของโลก ตลอดจนจัดหาสื่อการเรียนการสอนที่ส่งเสริมทักษะ ล่าสุดเชฟรอนได้สนับสนุนนวัตกรรมโดรนการเกษตรอัจฉริยะ พัฒนาโดย "เจ้าเอี้ยง โดรนเกษตร" ที่เกิดจากความร่วมมือของ บริษัท ไทย แอดวานซ์ อินโนเวชั่น จำกัด และบริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด (Varuna) ในเครือเออาร์วี (บริษัทย่อยของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด มหาชน) มาใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมทักษะการนำเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรไทย นอกจากนี้ผู้เรียนยังได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติจริงในไร่ของมิตรผล เพื่อเรียนรู้การทำไร่แบบโมเดิร์นฟาร์ม (ModernFarm) ในพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการทำงานภาคเกษตรอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร โดยมีบุคลากรด้านวิศวกร และการเกษตรจากกลุ่มมิตรผล มาถ่ายทอดองค์ความรู้สมัยใหม่ให้ผู้เรียนได้นำนวัตกรรมดังกล่าวไปพัฒนาตอบโจทย์การเกษตรยุคใหม่สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า "ภาคเกษตรอุตสาหกรรม เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย การยกระดับภาคการเกษตรจากแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรมูลค่าสูง (High Value) ผ่านการทำให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) และเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) เพื่อให้ภาคเกษตรไทย มีความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยมี คุณภาพและ ประสิทธิภาพสูง และต้นทุนที่แข่งขันได้ ทั้งนี้จะต้องใช้องค์ความรู้ การวิจัยพัฒนา (R&D) นวัตกรรม และเทคโนโลยี ด้วยเหตุดังกล่าวการพัฒนาการศึกษาด้าน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จึงมีความสำคัญในฐานะที่กลุ่มมิตรผลเป็นองค์กรที่มุ่งให้การสนับสนุนด้านพัฒนาบุคลากร และเกษตรกรชาวไร่อ้อย ให้มีความรู้และพร้อมต่อยอดการประกอบอาชีพ เพื่อให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้การสนับสนุนวิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น เพื่อจัดทำหลักสูตรเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทั้งนี้ ในปี 2565 ได้เปิดสอนสาขาอากาศยานเพื่อการเกษตร (Aviation for Agriculture) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ชั้นแนวหน้าแบบครบวงจรมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยกลุ่มมิตรผล ให้การสนับสนุนการพัฒนาครู ครูฝึกในสถานประกอบการ และนักเรียน ในการลงพื้นที่ปฏิบัติจริงในไร่ของมิตรผล เพื่อเรียนรู้การทำไร่แบบโมเดิร์นฟาร์ม (ModernFarm) เพื่อช่วยให้ได้พัฒนาทักษะในพื้นที่จริง เรียนรู้การใช้นวัตกรรมการจัดการไร่อ้อยยุคใหม่ รวมทั้งสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการฝึกทักษะ สร้างสมรรถนะ เพื่อสร้างกำลังคนให้มีทักษะในการใช้อากาศยานไร้คนขับในงานเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนและยกระดับการศึกษาของประเทศได้อย่างยั่งยืน"

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ