นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติ 10 - 1 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% (75 bps) สู่ระดับ 1.50 - 1.75% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นในอัตรามากสุดนับตั้งแต่ปี 2537 นั้น
นับเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ตรงตามคาดการณ์ของตลาด หลังตัวเลขเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤษภาคมออกมาเร่งตัวขึ้นสวนกับที่คาด ประกอบกับคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาว ของผู้บริโภคโดย U. of Michigan ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.3% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551
โดยนาย Jerome Powell ประธาน Fed ระบุในแถลงการณ์หลังการประชุมว่า มีความเป็นไปได้ว่าในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 26 - 27 กรกฎาคมนี้ อาจปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตรา 75 bps อีกครั้ง หรืออาจปรับขึ้นอีก 50 bps
สำหรับแนวโน้มของดอกเบี้ย (Dot Plot) ชี้ว่า Fed จะปรับดอกเบี้ยขึ้นจนสู่ระดับ 3.25 - 3.50% ณ สิ้นปีนี้ หรือปรับขึ้นอีก 1.75% (175 bps) ซึ่งมีมุมมองที่เข้มงวดกว่าเดิมจากเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นไปแตะระดับ 1.75 - 2.00% เท่านั้น สำหรับปี 2566 คาดว่า Fed จะปรับขึ้นแตะระดับ 3.5 - 3.75% และลดลงอยู่ที่ระดับ 3.25 - 3.5% ในปี 2567 โดยคาดการณ์ดอกเบี้ยระยะยาว (Longer-run Rate) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.5% จากเดิม 2.4% ด้านประมาณการเงินเฟ้อ Fed ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ขึ้นสอดรับกับมุมมองดอกเบี้ยที่เข้มงวด (Hawkish) ขึ้นอย่างมาก โดยปรับเงินเฟ้อ PCE ปีนี้ขึ้นเป็น 5.2% จากเดิมเดือน มี.ค. ที่ 4.3%
นายคมศรกล่าวว่า สำหรับมุมมองจากสถานการณ์ข้างต้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนทิสโก้คาดว่า เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้ช้า นับเป็นแรงกดดันสำคัญให้ Fed ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดย Dot Plot ล่าสุดชี้ Fed จะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 1.75% (175 bps) ในปีนี้ สู่ระดับ 3.25 - 3.50%
ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับดังกล่าว ณ สิ้นปี สามารถดำเนินการได้หลายแบบ แต่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ Fed จะปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตรา 0.75% (75 bps) ต่อเนื่องในการประชุมเดือนกรกฎาคมด้วย ก่อนที่จะลดลงเป็นอัตรา 0.50% (50 bps) ในการประชุมเดือนกันยายน และเป็นอัตราปกติที่ 0.25% (25 bps) ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เข้มงวดขึ้นอย่างมากนับเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจให้ชะลอลงอย่างรวดเร็วจนอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ ซึ่งต้องติดตามพัฒนาการตัวเลขเศรษฐกิจต่อจากนี้อย่างใกล้ชิด โดย Bloomberg Economics มองความเสี่ยงเกิด Recession ต้นปี 2567 มีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 72% จากเดือนเมษายนที่คาดว่ามีโอกาสเพียง 45% ที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย
ที่มา: ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป