ฟิทช์ปรับแนวโน้มเครดิต เอสซีจี แพคเกจจิ้ง เป็นลบ คงอันดับเครดิตที่ 'A+(tha)'

ศุกร์ ๑๗ มิถุนายน ๒๐๒๒ ๑๐:๑๐
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เป็นลบจากมีเสถียรภาพ  และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating)ที่ 'A+(tha)' ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศของโครงการหุ้นกู้ระยะกลาง   (Medium-Term Note Program หรือ MTN) ซึ่งเป็นโครงการหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ SCGP มูลค่ารวมไม่เกินสี่หมื่นล้านบาท ที่ระดับ 'A+(tha)'

การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ SCGP เป็นไปตามการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ  SCC เป็นลบ จากมีเสถียรภาพ และการประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว  ของ SCC ที่ 'A+(tha)'  โดยอันดับเครดิตของ SCGP อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ที่มีสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่งกว่า ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทย่อย (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงความท้าทายในการลดอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า

สถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile: SCP) ของ SCGP สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในฐานะผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน โดยบริษัทมีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างสม่ำเสมอและอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ความไม่แน่นอนในการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของ SCC - ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/ EBITDA) ของ SCC จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.5-5.0 เท่า ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากแผนการใช้จ่ายลงทุนขนาดใหญ่ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 8.5 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนสำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานใหม่ที่จะไม่สร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจนกระทั้งปี 2566 ภาวะเงินเฟ้อสูงสร้างความไม่แน่นอนให้กับระยะเวลาที่บริษัทฯ จะสามารถลดอัตราส่วนหนี้สินให้ลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม อัตราการเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ต่ำกว่าที่คาด รวมถึงค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูงกว่าที่คาดหากไม่มีการเพิ่มทุน อาจส่งผลกระทบทางลบต่ออันดับเครดิตได้

อัตราส่วนหนี้สินของ SCC อาจลดลงเร็วกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ได้ หากแผนการออกหุ้นเพิ่มทุนของธุรกิจเคมิคอลส์แล้วเสร็จตามที่คาดภายในสิ้นปี 2565 หรือต้นปี 2566 อย่างไรก็ตาม  ฟิทช์ไม่ได้รวมเงินที่อาจจะได้รับจากการ เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก เข้ามาในประมาณ เนื่องจากการดำเนินการตามแผนดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดทุนที่มีความไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงในการดำเนินการให้แล้วเสร็จ

การพิจารณาความสัมพันธ์กับบริษัทแม่ - ฟิทช์ประเมินว่า SCC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ SCGP ในสัดส่วนร้อยละ 72 มีแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนต่อ SCGP จากความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Incentive) และ ความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงาน (Operational Incentive) อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งส่งผลให้ SCGP ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสูงสุดไม่เกินสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพัง ของ SCGP ซึ่งอยู่ที่ 'a(tha)' อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP ต่ำกว่าสถานะทางเครดิตของกลุ่มของบริษัทแม่เพียงหนึ่งอันดับ ดังนั้นอันดับเครดิตของ SCGP จึงเท่ากันกับสถานะทางเครดิตของกลุ่มของบริษัทแม่ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของฟิทช์

ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ในระดับปานกลาง - แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนต่อ SCGP จากความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์จาก SCC เป็นผลมาจากสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ SCGP ต่อ EBITDA รวมของกลุ่มที่อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 30 เนื่องจากธุรกิจของ SCGP เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักของ SCC นอกจากนี้ SCC ยังได้รับประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ มายังธุรกิจแพคเกจจิ้งของ SCGP เนื่องจากกลุ่มธุรกิจอื่นของ SCC ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ และกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เป็นธุรกิจที่มีความผันผวนมากกว่าธุรกิจแพคเกจจิ้งของ SCGP

ความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงานในระดับปานกลาง - ฟิทช์พิจารณาแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจากความสัมพันธ์ด้านโครงสร้างการบริหารและการใช้แบรนด์ร่วมกัน (Management and Brand Overlap) อยู่ในระดับสูง และความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงาน (Operational Synergies) ในระดับต่ำ โดยการตัดสินใจทางการบริหารและกลยุทธ์ของ SCGP มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ SCC และบริษัทย่อยของ SCC จะใช้แบรนด์สินค้าหลักร่วมกันภายใต้แบรนด์ "SCG" ของบริษัทแม่ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงาน ที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นผลมากจากการที่ SCC และ SCGP ดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การลดต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทแม่ จากการดำเนินงานของ SCGP มีไม่มากนักในมุมมองของฟิทช์

EBITDA เติบโตดี - ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ SCGP จะเติบโตร้อยละ 10 ต่อปี ในช่วงปี 2565-2566 (ปี 2564 เติบโตร้อยละ 16) เป็นผลจากการขยายกำลังการผลิตและการรับรู้ผลกำไรจากกิจการที่ได้เข้าซื้อในช่วงที่ผ่านมา การเข้าซื้อกิจการจำนวนมากตั้งแต่ปี 2563 อาจส่งผลให้รายได้ของ SCGP เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 1.4 แสนล้านบาทภายในปี 2565 จากระดับ 9.2 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ถึงแม้ว่าการปรับเพิ่มกำลังการผลิตในระยะแรก (Ramp-up Period) ของกำลังการผลิตใหม่ในกลุ่มกระดาษบรรจุภัณฑ์ และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบอาจจะทำให้อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ลดลงเล็กน้อยในปี 2565

EBITDA ของ SCGP ลดลงร้อยละ 9 มาอยู่ที่ระดับ 4.7 พันล้านบาทในไตรมาส 1 ของปี 2565 ในขณะที่ EBITDA Margin ลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 13 ในไตรมาส 1 ของปี 2565 (จากฐานที่สูงในระดับร้อยละ 19 ในไตรมาส 1 ของปี 2564) ถึงแม้ว่ารายได้จะเติบโตสูงถึงร้อยละ 34  อัตราส่วนกำไรได้รับผลกระทบจากการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ พลังงาน และค่าขนส่ง รวมถึงการมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของโคโรน่าไวรัสของประเทศจีนซึ่งส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าลดลง และกระทบห่วงโซ่อุปทาน  อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าการฟื้นตัวของกำลังซื้อและราคาขายสินค้าที่สูงขึ้น น่าจะส่งผลให้ EBITDA Margin เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 14-15 ในปี 2565-2566  

ฐานะทางการเงินยังคงแข็งแกร่ง - ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ของ SCGP จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.5 เท่า ภายในสิ้นปี 2565 (รอบสิบสองเดือนล่าสุดสิ้นสุดไตรมาส 1 ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 2.1 เท่า และสิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 0.7 เท่า) ซึ่งเป็นผลจากแผนการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.1 เท่า ณ สิ้นปี 2566 เพื่อสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจ บริษัทฯ มุ่งเน้นการขยายธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์ขั้นปลายในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์พร้อมให้บริการแบบครบวงจรในลักษณะโซลูชั่นสำหรับกลุ่มบรรจุภัณฑ์ทั้งกระดาษและพลาสติก

ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน - สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP ที่ 'a(tha)' สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำตลาด ในฐานะผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยวัดจากกำลังการผลิต กำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษขั้นปลายของ SCGP น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.0 ล้านตันต่อปี ในปี 2565 และ 6.3 ล้านตันต่อปี ในปี 2567 จากประมาณ 5.7 ล้านตันต่อปี ในปี 2564 กำลังการผลิตสินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารและบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน แต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำ หลังจากการเข้าซื้อกิจการจำนวนมากตั้งแต่ปี 2563

กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ -ประมาณร้อยละ 70 ของรายได้จากบรรจุภัณฑ์ของ SCGP มาจากกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภค บริโภค ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการซื้อที่ค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจและมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูง นอกจากนี้ ธุรกิจของ SCGP ยังได้รับประโยชน์จากการขยายสายการผลิตสินค้าไปยังสินค้าขั้นต้น (Vertical Integration) เช่น กระดาษบรรจุภัณฑ์ซึ่งทำให้บริษัทฯ สามารถลดผลกระทบต่ออัตราส่วนกำไรจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบได้ในระดับหนึ่ง ฟิทช์คาดว่า SCGP จะมีกำลังการผลิตและความหลากหลายของสินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการใช้จ่ายเงินของลูกค้าในผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ได้

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP ใกล้เคียงกับอันดับเครดิตของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC (A(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ)  โดยบริษัททั้งสองเป็นบริษัทที่อันดับเครดิตได้รับการสนับสนุนจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจของตนเอง SCCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย แต่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทมีความอ่อนไหวในช่วงเศรษฐกิจมากกว่า SCGP เนื่องจาก SCCC มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ SCGP มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และกลุ่มธุรกิจของลูกค้าที่หลากหลายกว่า รวมถึงมีความต้องการซื้อจากลูกค้าที่มีความสม่ำเสมอมากกว่า ส่งผลให้ SCGP สามารถรองรับอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า SCCC ที่อันดับเครดิตเดียวกัน

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

-               รายได้เติบโตในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีในปี 2565 (ปี 2564 เติบโตร้อยละ 34) โดยได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อสินค้า การขยายกำลังการผลิต และการรวมผลประกอบการของกิจการที่มีการเข้าซื้อในช่วงที่ผ่านมา

-               EBITDA Margin ลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 14-15 ในปี 2565-2566 (ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 16.1 และปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 17.5)

-               ค่าใช้จ่ายลงทุน ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2565-2566

-               อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับร้อยละ 40 ในปี 2565-2566

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

-               แนวโน้มอันดับเครดิตอาจกลับมามีเสถียรภาพหากแนวโน้มอันดับเครดิตของ SCC ถูกปรับกลับมามีเสถียรภาพ โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง SCGP และ SCC ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

ปัจจัยลบ:

-               การปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC

-               ความสัมพันธ์ระหว่าง SCGP และ SCC ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP

ปัจจัยบวก: 

-               สถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้น และขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ โดยวัดจาก EBITDA ที่สูงขึ้น และการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้นและมีประเภทสินค้าที่หลากหลายขึ้น

ปัจจัยลบ:

-               FFO net leverage อยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง

สำหรับอันดับเครดิตของ SCC ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตได้แสดงในรายงานอันดับเครดิตของฟิทช์ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ดังนี้

ปัจจัยบวก: 

-               แนวโน้มอันดับเครดิตอาจกลับมามีเสถียรภาพได้หาก Net Debt/EBITDA ของ SCC ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 3.5 เท่า ได้ภายในปี 2566 โดยอาจเกิดจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สูงกว่าที่คาด หรือกระแสเงินสดจากการเพิ่มทุน

ปัจจัยลบ:

-               Net Debt/ EBITDA อยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่อง

สภาพคล่องเพียงพอ: SCGP มีหนี้สินที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับจากสิ้นเดือนมีนาคม 2565 จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท และเงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระประมาณ 2 หมื่นล้านบาท สภาพคล่องของ SCGP ได้รับการสนับสนุนจาก เงินสดในมือจำนวนประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านตลาดตราสารหนี้และสินเชื่อจากสถาบันการเงินในประเทศ 

ข้อมูลบริษัท

SCGP เป็นบริษัทย่อยหลักของ SCC ในการดำเนินธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่ง SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCGP เป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อันดับเครดิตที่เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตอื่น

อันดับเครดิตของ SCGP เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตของ SCC

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย