'Voice of Liver 2022 - ฟังเสียงตับ รับมือมะเร็ง ครั้งที่ 2' สร้างความตระหนักรู้ พร้อมขยายโอกาสเข้าถึงการรักษา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของผู้ป่วยมะเร็งตับ

จันทร์ ๒๐ มิถุนายน ๒๐๒๒ ๐๙:๓๔
มูลนิธิรักษ์ตับ ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคมะเร็ง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ได้จัดงาน Voice of Liver 2022: #ฟังเสียงตับรับมือมะเร็ง ครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งตับให้แก่คนไทย รวมไปถึงเพื่อเผยแพร่และรายงานการศึกษา "ต่อชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ…ยกระดับเส้นทางการรักษา (Surviving Liver Cancer - Improving the Disease Journey)" ที่สะท้อนความต้องการและอุปสรรคต่างๆ ที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับต้องเผชิญ รวมถึงเสียงของผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่เล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ในรายงานการศึกษาดังกล่าวยังประกอบด้วยข้อเสนอแนะ ซึ่งอาจเป็นแนวทางแก่ผู้กำหนดนโยบายที่ช่วยขยายโอกาสการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับ นอกจากนี้ ตัวแทนหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อีกทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับยังให้เกียรติมาร่วมกันเสวนาหาทางออก เพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาและสร้างความยั่งยืนด้านการรับมือกับโรคมะเร็งเซลล์ตับในระยะยาว
'Voice of Liver 2022 - ฟังเสียงตับ รับมือมะเร็ง ครั้งที่ 2' สร้างความตระหนักรู้ พร้อมขยายโอกาสเข้าถึงการรักษา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของผู้ป่วยมะเร็งตับ

ในประเทศไทย เมื่อเทียบมะเร็งตับกับมะเร็งชนิดอื่นๆ พบว่ามีอุบัติการณ์สูงที่สุดอันดับ 1 อยู่ที่ร้อยละ 14.4 นอกจากนี้ สัดส่วนของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับมักเป็นผู้ป่วยชายมากกว่าผู้ป่วยหญิงถึง 2 เท่า โดยมีจำนวน 18,268 ราย และ 9,126 ราย ตามลำดับ ทั้งนี้ ชนิดของมะเร็งตับที่พบได้บ่อยและมากที่สุดคือ มะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma - HCC) ถึงร้อยละ 90 นอกจากนี้ อัตราการเสียชีวิตของประชากรไทยด้วยโรคมะเร็งตับยังมากที่สุดเป็นอันดับ 1 อีกด้วย อาจกล่าวได้ว่ามะเร็งตับไม่ได้เป็นภัยต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคมจากการเจ็บป่วยเรื้อรังและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ในวัยทำงาน ส่งผลต่อกำลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งเซลล์ตับ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากซึ่งนำไปสู่โรคตับจากพิษสุราเรื้อรัง การสูบบุหรี่ การออกกำลังกายไม่เพียงพอที่นำไปสู่โรคอ้วน และการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซิน โดยอาการที่พบบ่อยที่สุดของผู้ป่วยมะเร็งตับคือ อาการท้องอืด ท้องมาน น้ำหนักตัวลดลง และเบื่ออาหารโดยไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งร่วมด้วยมักพบอาการสมองฝ่อ ตาหรือเล็บเหลือง และอวัยวะภายในร่างกายบวม อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยจึงทำให้การวินิจฉัยคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งแพทย์สามารถใช้ตัวชี้วัดทางชีวภาพ การถ่ายภาพรังสี และการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อเป็นแนวทางการวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งตับแบ่งเป็น 3 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาที่ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงทั้งระหว่างการให้ยาและช่วงพักการให้ยา; การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งผ่านกลไกการยับยั้งการสร้างหลอดเลือดที่มาเลี้ยงมะเร็ง แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้หากผู้ป่วยได้รับยาติดต่อกันเป็นเวลานาน; และการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ในการเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยมักใช้ร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด และมีหลักฐานสนับสนุนทางวิชาการที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์การรักษาที่ดี ช่วยยืดระยะเวลาปลอดโรค และช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดย นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระปกเกล้า และรองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า กล่าวว่า "เนื่องจากมะเร็งเซลล์ตับเป็นโรคที่ผู้ป่วยมักพบในระยะลุกลาม ดังนั้น แนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นปัจจัยสำคัญ แต่จากสถิติกลับพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดตามสิทธิประโยชน์ด้านยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น เพราะยังไม่สามารถเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาตามมาตรฐานสากลได้"

รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และประธานมูลนิธิรักษ์ตับ ร่วมด้วย นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระปกเกล้า และรองประธานศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า และ พ.อ.ผศ.นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคมะเร็งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้ร่วมกันศึกษาและจัดทำรายงานการศึกษา "ต่อชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ…ยกระดับเส้นทางการรักษา (Surviving Liver Cancer - Improving the Disease Journey)" เพื่อยกระดับเส้นทางการรักษาให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในประเทศไทย โดยวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อโอกาสการเข้าถึงการรักษา การดูแลและการให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับ โดยสำรวจข้อมูลเชิงปริมาณในกลุ่มผู้ป่วย 92 คน แบ่งเป็นเพศชาย 72 คน และเพศหญิง 20 คน อายุระหว่าง 31-90 ปี และสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ป่วย 10 คน และแพทย์ 3 คน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - ธันวาคม พ.ศ. 2564 ผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นถึงข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วย วิเคราะห์ปัจจัยเชิงบวกและเชิงลบที่มีผลต่อการวินิจฉัยและการตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษา รวมถึงนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่ผู้ป่วยยังไม่ได้รับตลอดระยะเส้นทางการรักษา เช่น การขาดความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งตับและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม ความซับซ้อนทางโครงสร้างของระบบสาธารณสุข ความกังวลด้านค่าใช้จ่าย รายการยาที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้กำหนดนโยบาย

การศึกษาดังกล่าวยังมีบทบาทสำคัญในการสะท้อนความคิดของผู้ป่วย ตลอดจนอุปสรรคที่ผู้ป่วยต้องเผชิญตลอดเส้นทางการรักษา ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 6 แนวความคิด ดังนี้

  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยที่ค่อนข้างล่าช้า ส่งผลให้โรคลุกลามและการพยากรณ์ของโรคแย่ลง
  • การเข้าถึงการรักษาด้วยยานวัตกรรมยังถูกจำกัด เนื่องจากยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิการรักษา
  • แม้ผู้ป่วยรู้สึกพึงพอใจกับการรักษาและประสบการณ์การขอคำปรึกษา แต่ผู้ป่วยที่มีความรู้ด้านสุขภาพต้องการให้แพทย์ตอบคำถามของพวกเขามากกว่าที่เป็นอยู่
  • ข้อมูลที่ให้กับผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับเผชิญความลำบากทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับต้องการความช่วยเหลือหลายด้าน นอกเหนือจากการดูแลรักษาจากแพทย์เพียงอย่างเดียว

รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ กล่าวว่า "เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การสนับสนุนและความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องพิจารณาถึงสุขภาวะของผู้ป่วยแต่ละคน เศรษฐสถานะของครอบครัว และความต้องการต่างๆ เช่น การแก้ไขระบบเบิกจ่ายทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยรังสีร่วมรักษา และยานวัตกรรม เช่น ยาในกลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดหรือยามุ่งเป้า"

จากสัดส่วนของประชากรที่เข้าร่วมการศึกษา "ต่อชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ…ยกระดับเส้นทางการรักษา (Surviving Liver Cancer - Improving the Disease Journey)" มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับที่อยู่ในวัยแรงงาน อายุ 31-60 ปี ร้อยละ 36.9 และมีผู้ป่วยสูงอายุ 61-71 ปี ร้อยละ 43.5 เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับโครงสร้างสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาจคาดการณ์ได้ว่าความรุนแรงของโรคมะเร็งเซลล์ตับอาจก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศมากยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบดูแลสุขภาพมีจำนวนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประชากรวัยทำงานลดลงและอาจเจ็บป่วยเรื้อรังหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคมะเร็งเซลล์ตับ ส่งผลให้ประเทศไทยนอกจากจะต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีภาระด้านงบประมาณเพื่อรองรับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีกด้วย ดังนั้น การปรับปรุงแนวทางการรักษาโรคมะเร็งเซลล์ตับให้มีประสิทธิภาพจึงควรเป็นวาระสำคัญและเร่งด่วน

พ.อ.ผศ.นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข กล่าวว่า "แม้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศจะประสบความสำเร็จในการช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น แต่สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับ การป้องกันและตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นคือการควบคุมโรคที่ดีที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น สถานพยาบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องควรจัดเตรียมช่องทางเพิ่มเติมสำหรับการให้คำปรึกษาและการรักษาแก่ผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วก่อนที่โรคจะลุกลามไปสู่ระยะรุนแรง"

ทางออกในการรับมือปัญหาโรคมะเร็งตับอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ควรเริ่มตั้งแต่การเพิ่มการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนต่อโรคมะเร็งตับ โดยสนับสนุนการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยควรเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นด้านแนวทางการรักษา เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจรับแนวทางรักษาที่มีประสิทธิภาพและวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advanced Care Plan) ร่วมกันระหว่างผู้ป่วย แพทย์ และคนดูแล นอกจากนี้ โรงพยาบาลและหน่วยงานกำกับดูแลด้านสาธารณสุขยังต้องเพิ่มขีดความสามารถให้ทันกับความต้องการของผู้ป่วยในเขตพื้นที่ชุมชน ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มจำนวนบุคลากร เช่น การจัดตั้งทีมสหวิชาชีพในโรงพยาบาล เป็นต้น

ส่วนบทบาทของหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง การตั้งคณะกรรมการพิจารณาเพิ่มรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมการรักษาสามารถช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยได้ รวมไปถึงการแสวงหากลไกทางเลือก (alternative mechanism) เพื่อเพิ่มแหล่งเงินทุน เช่น จัดตั้งกองทุนรักษาโรคมะเร็ง และการหาแนวทางในการบริหารกลไกการเบิกจ่าย เหนือสิ่งอื่นใด ความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาและความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงตัวแทนของผู้ป่วย ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะผลักดันแผนนโยบายสุขภาพรูปแบบใหม่ ที่สามารถสร้างความยั่งยืนและพัฒนาขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในระยะยาว

"สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีหน้าที่ในการดูแลประชากรไทย ประมาณ 47 ล้านคน ซึ่งมีภารกิจหลักให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่พึงประสงค์ และไม่ล้มละลายจากความเจ็บป่วยภายใต้งบประมาณที่มี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ท่านเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี จึงมีความตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างมากในการดูแลเรื่องโรคมะเร็ง เรามีทั้งโครงการ Cancer Anywhere และมีการจัดทำคู่มือแนวทางการรักษาสำหรับโรคมะเร็งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงใหม่เพื่อให้เท่าทันความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทั้งยังมีคณะทำงานดูแลรายละเอียดโรคมะเร็งซึ่งมะเร็งตับก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ สปสช. ยังไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามดูแลกลุ่มเปราะบางในทุกเรื่อง เราพยายามหาแนวทางและกลไกเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น โดยจะทำงานประสานกับคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อผลักดันการเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและคุ้มค่างบประมาณที่สุด สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญคือต้องเน้นไปที่การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งตับ การคัดกรองโรค เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักรู้เรื่องโรคมะเร็งตับ ส่วนผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซึ่งปัจจุบันมีชุดสิทธิประโยชน์ครอบคลุมอยู่แล้ว และกำลังจะขยายในเรื่องการคัดกรองด้วยอัลตราซาวน์และสารบ่งชี้มะเร็งตับ AFP ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่าและประสิทธิพล" นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ตัวแทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวภายในงาน

สถานการณ์โรคมะเร็งตับเป็นความท้าทายระดับชาติที่ทุกฝ่ายไม่อาจเพิกเฉยได้อีกต่อไป ดังนั้น การผนึกกำลังเพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับเส้นทางการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับตามวัตถุประสงค์ของงาน Voice of Liver 2022: #ฟังเสียงตับรับมือมะเร็ง ครั้งที่ 2 ที่เป็นกระบอกเสียงให้ผลการศึกษาสะท้อนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันขยายโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ที่มา: วีโร่

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕ พ.ย. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เปิดตัว HOP NextGen ชวนนักศึกษาเยี่ยมชม ฮ็อป อินน์ เรียนรู้เทคนิคบริการแบบ Consistency is Yours พร้อมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่
๑๕ พ.ย. คิง เพาเวอร์ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี เปิดแคมเปญ THE POWER OF FUNTASTIC CELEBRATION 2025 ฉลองทุกความสุข สนุกไม่รู้จบ
๑๕ พ.ย. พันธุ์ไทย ชวนแฟนด้อม คัลแลนและพี่จอง จุ่ม การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู ลิมิเต็ด อิดิชั่น
๑๕ พ.ย. BAM ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE ตอกย้ำผู้นำ AMC ยุค 4.0 วางเป้าหมายยกระดับองค์กรสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมส่ง อิสระ เดอะซีรีส์ ชวนลูกหนี้ BAM
๑๕ พ.ย. บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก จาก SP Global 2024 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil Gas Refinery and
๑๔ พ.ย. ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ออกบูธให้ความรู้เรื่องการใช้งานระบบดับเพลิงนร. พระหฤทัยนนทบุรี
๑๒ พ.ย. พนักงานซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล รับรางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่น
๑๕ พ.ย. PROSPECT REIT ชูไตรมาส 3/67 โตเกินเป้า อัตราการเช่าพุ่งนิวไฮ หนุนจ่ายปันผลเด่น 0.2160 บาท
๑๕ พ.ย. CHAO ประกาศงบ Q3/67 กำไรพุ่งกว่า 62% รับตลาดส่งออกพีค จีนโตเด่น แย้ม Q4 เดินหน้าบุกตลาดในประเทศ สินค้าใหม่หนุนยอดขายปลายปี
๑๕ พ.ย. ฉลองเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ