คุณวันแสง วันนะวง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน) หรือ EDL-Gen ผู้นำการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดรายใหญ่ของ สปป.ลาว เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานของ EDL-Gen ในปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังไตรมาสแรกในปีนี้สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า (ในรูปแบบสกุลเงินกีบ ดอลล่าร์สหรัฐและเงินบาท) รวมทั้งสิ้น 1,072.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 66.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงจาก Bloomberg เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565) โดยได้รับอานิสงส์อย่างต่อเนื่องจากปรากฎการณ์ลานิญญ่าตั้งแต่ปี 2564 ทำให้ปริมาณน้ำฝนและมวลน้ำไหลผ่านเขื่อน (in flow) ใน 5 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 5,306.80 ล้านลูกบาศก์เมตร สูงกว่าที่คาดการณ์ถึง 202.70% และเทียบกับ 5 เดือนแรกของปี 2564 เท่ากับ 166.44% ทำให้มีความสามารถด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการรับรู้ของส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าที่ร่วมทุนกับเอกชน (IPP) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในไตรมาสแรกของปี 2565 นั้นมาจากส่วนแบ่งกำไรของโครงการ Theun Hinboun ที่เพิ่มขึ้น 30% โครงการ Don Sahong 49% โครงการ Houay Ho 59% และ โครงการ Xayaburi 100%
ส่วนช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทฯ ประเมินว่าจะมีปริมาณมวลน้ำไหลผ่านประมาณ 15,626 ล้านลูกบาศก์เมตร สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 131.96% ช่วยสนับสนุนความสามารถด้านการผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้ EDL-Gen มีศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในประเทศสปป.ลาว และจำหน่ายแก่ประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ งบการเงินปี 2564 จะเห็นได้ว่าบริษัทฯ มีสัดส่วนของรายได้ที่มาจากการจำหน่ายไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินต่างชาติ (สกุลเงินกีบประมาณ 34% ดอลลาร์สหรัฐประมาณ 51% และ บาทไทยประมาณ 15%) ทำให้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่น้อยลง กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ EDL-Gen จึงมีความมั่นคงดี
EDL-Gen ได้วางกลยุทธ์เน้นเพิ่มรายได้จากสกุลเงินต่างประเทศโดยการขยายการส่งออกไฟฟ้าไปต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสการขายไฟแล้วจะช่วยให้บริษัทฯ ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ระดับหนึ่งอีกด้วย โดยโครงการที่ส่งออกไฟฟ้าไปยังต่างประเทศซึ่งจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2565 เช่น โครงการที่ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (IPP) Nam Thuen 1 กำลังการผลิตติดตั้งรวม 650 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งไฟฟ้ามายังประเทศไทยทั้งหมด 80% ของกำลังการผลิตติดตั้ง และโครงการที่ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (IPP) Xekaman3 กำลังการผลิตติดตั้งรวม 250 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งไฟฟ้าไปยังประเทศเวียดนามทั้งหมด 90% ของกำลังการผลิตติดตั้ง รวมถึงโครงการที่ EDL-Gen เป็นผู้ลงทุนเอง (HPP) Nam Chiane ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายในการเตรียมความพร้อม โดยเป็นโครงการแรกของบริษัทฯ ที่คาดว่าจะเริ่มส่งออกพลังงานไฟฟ้าไปยังประเทศเวียดนามโดยตรงจำนวน 104 MW ภายในเดือน ส.ค. นี้
นอกจากนี้ รายได้ของ EDL-Gen ยังมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งใหม่ที่คาดว่าจะรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ทั้งที่เป็นเจ้าของโครงการเอง (HPP) และโครงการลงทุนร่วมกับเอกชน (IPP) รวม 760.3 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 ทำให้ศักยภาพการดำเนินธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น จากปัจจุบัน EDL-Gen เป็นเจ้าของและเป็นผู้ถือหุ้นโครงการโรงไฟฟ้า รวม 27 โครงการ กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งรวม 1,692.22 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่ EDL-Gen เป็นผู้ลงทุนเอง (HPP) 10 แห่ง กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 699 เมกะวัตต์ และร่วมลงทุนกับเอกชน (IPP) อีก รวม 993.22 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้แบ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ 16 แห่ง กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 974.02 เมกะวัตต์ และจากพลังงานแสงอาทิตย์ 1 แห่ง รวม 19.20 เมกะวัตต์
"นอกจาก EDL-Gen จะมีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าระยะยาว 30 ปี ให้แก่ EDL และต่ออายุได้ครั้งละ 10 ปี โดยที่มีเงื่อนไขสัญญาสามารถปรับเพิ่มราคาจำหน่ายไฟฟ้าได้ปีละ 1% การที่ สปป.ลาวได้มีการลงนาม MOU กับประเทศไทย ซึ่งมี EGAT เป็นคู่สัญญาหลักแล้ว 10,500 เมกะวัตต์ กัมพูชา 6,000 เมกะวัตต์ เวียดนาม 5,000 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้เวียดนามล็อตแรกภายในปี 2565 นี้ ส่งผลช่วยผลักดันรายได้และความมั่นคงด้านการดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในช่วงครึ่งปีหลังของ EDL-Gen เพิ่มขึ้น" คุณวันแสง กล่าว
บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านเงินลงทุนและต้นทุนทางการเงินเพื่อ เสริมสร้างสถานะทางการเงินให้เข้มแข็ง ควบคุมอัตราส่วนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ดังนั้น EDL-Gen จึงได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกันและมีผู้แทนผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 วงเงิน 1,085.5 ล้านบาท จำนวน 1 ชุด อายุ 4 ปี 6 เดือน กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.50% ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2570 ซึ่งกำหนดชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน เพื่อนำเงินจากการระดมทุนครั้งนี้ไปรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2565 โดยได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้และผู้ออกหุ้นกู้ที่ระดับ BBB- แนวโน้ม "คงที่" (Stable)
ทั้งนี้ หุ้นกู้ชุดดังกล่าว จะเสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบัน และ/หรือนักลงทุนรายใหญ่ ที่ราคาเสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท จองขั้นต่ำ 100 หน่วย โดยผู้ที่สนใจสามารถจองซื้อหุ้นกู้ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ จำนวนทั้งหมด 4 ราย ประกอบไปด้วย บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์ เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด โดยกำหนดให้นักลงทุนสามารถจองซื้อได้ในวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2565 นี้
ที่มา: เอ็มที มัลติมีเดีย