นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการแถลงข่าว"โครงการประกวดต่อต้านการทุจริตผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้านไทยประยุกต์ ประจำปี 2565" โดยมีนางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ศาสตราจารย์วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์และผู้แทนบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นางกนกพร รอดรุ่งเรือง กรรมการและเลขานุการมูลนิธิพลังที่ยั่งยืนและผู้แทนบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ทีมนักเรียนโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรีที่ได้รับรางวัลชนะเลิศใน"โครงการประกวดการต่อต้านการทุจริต ผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน" ประจำปี 2563 และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นางยุพา กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยการนำของนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มีนโยบายในการนำหลักธรรมาภิบาลมาขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและสร้างคุณค่าทางสังคม โดยมุ่งปลูกจิตสำนึกให้คนไทยโดยเฉพาะเด็ก เยาวชนของชาติให้เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรมและจริยธรรมและร่วมรณรงค์การต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริตและยุทธศาสตร์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตของวธ. ดังนั้น วธ.ร่วมกับมูลนิธิต่อต้านการทุจริต เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)และมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน จัด"โครงการประกวดต่อต้านการทุจริตผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้านไทยประยุกต์ ประจำปี 2565" โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั่วประเทศ สร้างสรรค์ผลงานในหัวข้อ "เยาวชนคนไทยร่วมใจปลูกความดี ปลูกคุณธรรม นำไทยพ้นภัยคอร์รัปชัน"ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถ้วยเกียรติยศและเกียรติบัตรและทุนการศึกษา แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา รางวัลชนะเลิศ จำนวน 50,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 30,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 20,000 บาท รางวัลชมเชย 3 รางวัลๆละ 10,000 บาท ระดับมัธยมศึกษาและปวช. รางวัลชนะเลิศ จำนวน 60,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 40,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 30,000 บาท รางวัลชมเชย 3 รางวัลๆละ 15,000 บาท และรางวัลขวัญใจมหาชน (Poppular Vote) จำนวน 20,000 บาท รวมทุนการศึกษาทั้งหมดกว่า 685,000 บาท
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า โครงการฯเปิดรับผลงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม - 25 กันยายน 2565 โดยดาวน์โหลดใบสมัครที่ www.acf.or.th หรือ www.trueplookpanya.com ผู้สมัครแต่ละทีมมีสมาชิก ไม่เกิน 20 คน ส่งผลงานการแสดงเป็นคลิปวีดิโอความยาวไม่เกิน 3-5 นาที ซึ่งตัวอย่างศิลปะการแสดงที่สามารถนำมาประยุกต์สร้างสรรค์ อาทิ ภาคเหนือ เพลงซอ กลองสะบัดชัย การฟ้อนรำตามประเพณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น หมอลำ เพลงโคราช ลำแคน ฟ้อนภูไท ภาคกลาง อาทิ เพลงรำวง เพลงอีแซว เพลงฉ่อย บทเพลงลำตัดและภาคใต้ อาทิ โนรา หนังตะลุง ลิเกฮูลู รวมทั้งบทร้องและบทบรรยายแนวความคิดของการแสดงไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 โดยพิมพ์เป็นตัวหนังสือเท่านั้นมาที่อีเมล [email protected] ภายในวันที่ 25 กันยายน 2565 สอบรายละเอียดเพิ่มเติมโทร.0972899246 โดยประกาศผลทีมผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศวันที่ 31 ตุลาคม 2565 และประกวดรอบชิงชนะเลิศ วันที่ 14 ธันวาคม 2565
นางยุพา กล่าวด้วยว่า โครงการนี้มุ่งส่งเสริมให้เยาวชนไทยร่วมสร้างสรรค์ผลงานการแสดงในรูปแบบศิลปะร่วมสมัยความคิดสร้างสรรค์ใหม่โดยผ่านการศึกษา เรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และต่อยอด สืบสาน เผยแพร่ อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี เพื่อให้การแสดงพื้นบ้านคงอยู่ ตลอดจนปลูกฝังค่านิยมความเป็นไทย และการต่อต้านการทุจริตให้แก่เด็กและเยาวชนไทย อีกทั้งเพื่อแสดงจุดยืนของวธ.ในการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการทุจริตอย่างต่อเนื่อง จะมีการนำผลงานจากการประกวดรอบชิงชนะเลิศมาใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆของมูลนิธิต่อต้านการทุจริต วธ. เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มทรูในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตต่อไป
ที่มา: กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม