เพื่อรองรับโลกแห่งอนาคตที่นับวันจะมีการใช้เทคโลยีปัญญาประดิษฐ์มากขึ้นในทุกด้าน จึงเกิด "สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineering Institute) ขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง 6 สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ ในการผลิตบัณฑิตเพื่อรองรับเทคโนโลยี AI ซึ่งกำลังขาดแคลนในตลาดแรงงานนับหมื่นตำแหน่ง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้เป็น 1 ใน 6 สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ ที่ร่วมลงนามจัดตั้งหลักสูตรแห่งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineering Institute)
ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางให้นักศึกษาด้านไอที หรือเทคโนโลยีสารสนเทศของแต่ละสถาบันได้เรียนร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างทักษะในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในด้านต่างๆ เพื่อร่วมพัฒนาสู่ประเทศนวัตกรรมต่อไปในอนาคต
มหาวิทยาลัยมหิดล มีความพร้อมทั้งทางด้านทรัพยากรบุคคล องค์ความรู้ เครื่องมือ และสถานที่ จากการระดมสร้างinfrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ขึ้นมารองรับโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กลุ่มสาขา AI Based Diagnosis อย่างเต็มรูปแบบที่ผ่านมา
มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการจัดตั้ง "สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล" (Mahidol AI Center) ไว้พร้อมต้อนรับนักศึกษาที่ร่วมหลักสูตรของสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineering Institute) และจากทั่วประเทศ ณ ลานInnovative Space ชั้น 1 อาคารคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
และที่สำคัญ ด้วยความเป็นผู้นำด้าน Life Sciences หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพ ของมหาวิทยาลัยมหิดล เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำพาประเทศสู่การพัฒนาระบบ AI ในด้านดังกล่าวได้อย่างเต็มศักยภาพอย่างแน่นอน
อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า รายวิชาในหลักสูตรของสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์
โดยนักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ ณ 6 สถาบันเครือข่าย ทั้งในรูปแบบ online และ onsite โดยผู้ที่เริ่มต้นสมัครเรียนจากสถาบันใด จะได้รับปริญญาบัตรจากสถาบันนั้นๆ
ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล จะได้เข้ารับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาการและเทคโนโลยีดิจิทัล จาก มหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจากนี้ "สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล" (Mahidol AI Center) ที่ คณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ยังพร้อมด้วยระบบซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้ในการประมวลผลขั้นสูง และจัดการ Big Data ต่างๆ เช่น Nvidia A100 80gb และ 40gb รุ่นละสองระบบ ร่วมกับ Infiniband และหน่วยความจำขั้นสูง DNN Storage ขนาด 1TB
ตลอดจนซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่ทันสมัย และจำเป็นต่อการเรียนรู้ พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับและสนับสนุนการเรียน การสอน และบริการวิชาการด้านเทคโนโลยี AI อย่างครบครัน
แม้ 6 สถาบันจะร่วมผลิตบัณฑิตไอทีเพื่อรองรับเทคโนโลยีAI ที่กำลังเป็นที่ต้องการของประเทศอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอ เนื่องจากคาดว่าจะมีงานในลักษณะที่ต้องอาศัยทักษะการใช้ AI ว่างรออีกนับหมื่นตำแหน่ง
อาจารย์ ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ มองว่า การลงทุนผลิตบัณฑิตทางด้านไอทีเพื่อรองรับเทคโนโลยี AI ถือเป็นหนึ่งในการลงทุนทางการศึกษาที่คุ้มค่ามากที่สุดในขณะนี้ ซึ่งบัณฑิตแต่ละราย จบมามีงานรองรับแน่นอน อีกทั้งมีรายได้ที่สูงกว่าบัณฑิตในสาขาอื่นๆ หลายเท่า
คณะ ICT มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งเป้าหมายผลิตบัณฑิตร่วมหลักสูตรสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ได้รุ่นละประมาณ20 ราย ภายในระยะเวลาประมาณ 3 ปีครึ่งของหลักสูตรและคณะฯ จะเสนอให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตบุคลากรในหลักสูตรบูรณาการร่วมกับศาสตร์อื่นๆ ที่ต้องการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ต่อไปในอนาคตอีกด้วย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณภา อินทรประเสริฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล