นายกิตติพงศ์ ได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ Synthetic Biology หรือ เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ ว่าเป็น Disruptive Technology เทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก ที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีน ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของทรัพยากรการผลิตที่มีอยู่จำกัด บวกกับการที่ผู้บริโภคใส่ใจในเรื่องที่มาที่ไปของแหล่งโปรตีนมากขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งโปรตีน ไปจนถึงความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งการผลิตอาหารโดยใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ จะเข้ามาตอบโจทย์นี้ได้โดยตรง โดยเฉพาะการทำฟาร์มในห้องทดลอง ที่สามารถลดการเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ ลดการใช้พื้นที่ และยังสามารถช่วยร่นระยะเวลาในการได้มาซึ่งแหล่งโปรตีนให้สั้นลงได้อีกด้วย
ในส่วนของโอกาสและความท้าทาย ประเทศไทยมีความพร้อมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของทรัพยากรธรรชาติ ทำให้มีความสมบูรณ์ทางด้านวัตถุดิบ การมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านชีววิทยาสังเคราะห์ รวมไปถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยในปีที่แล้วได้มีการตั้ง Thailand Synbio Consortium ซึ่งเป็นความร่วมมืระหว่างองค์กรของรัฐและบริษัทเอกชนชั้นนำ 17 องค์กร ในการส่งเสริม และขับเคลื่อนวงการชีววิทยาสังเคราะห์ในประเทศไทย จึงคิดว่าหากภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน จะสามารถทำให้เป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางด้านชีววิทยาสังเคราะห์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในอีก 3-4 ปีข้างหน้านั้นเป็นจริงได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ที่มา: Hukder