สศก. เร่งเครื่อง ลุยแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ ระยะ 5 ปี ให้สมบูรณ์ ดันไทยเป็นผู้นำอาเซียนเกษตรอินทรีย์ ภายในปี 2570

พุธ ๒๒ มิถุนายน ๒๐๒๒ ๑๗:๑๐
ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 - 2570 โดย สศก. เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และผู้แทนเกษตรกร ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค โดยได้รับเกียรติจาก นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา ณ ห้องประชุมศรีปลั่ง ชั้น 8 อาคารวิสัยทัศน์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สศก. เร่งเครื่อง ลุยแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ ระยะ 5 ปี ให้สมบูรณ์ ดันไทยเป็นผู้นำอาเซียนเกษตรอินทรีย์ ภายในปี 2570

การสัมมนาครั้งนี้ มีการนำเสนอผลสำเร็จของการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560 - 2565 และ
ร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 - 2570 โดย นางสาวกัลยา สงรอด ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สศก. เป็นผู้นำเสนอ ซึ่งผลการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 - 2564) สามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของประเทศได้รวม 1,515,132 ไร่ มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ จำนวน 95,752 ราย สร้างมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ได้รวม 5,345.33 ล้านบาท โดยสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ทุเรียน มังคุด มะพร้าวอ่อน น้ำกะทิ และใบชาเขียว

พร้อมนี้ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร ยังได้นำเสนอองค์ประกอบในร่างแผนปฏิบัติการ ด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 - 2570 ที่จะใช้ขับเคลื่อนในระยะต่อไป โดยเน้นความสอดคล้องกับแผนทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 - 2570 รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยร่างแผนปฏิบัติการฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้ วิสัยทัศน์ "ประเทศไทยเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียน ในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์สร้างมูลค่า บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2570" โดยมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรในระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐาน ในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับสากล สามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์เป็น 2.0 ล้านไร่ ในปี 2570 มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (PGS/ มกษ. 9000/มาตรฐานสากล) ไม่น้อยกว่า 1.3 แสนรายในปี 2570 และมีสินค้าเกษตรอินทรีย์มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี โดยกำหนดประเด็นการพัฒนาเป็น 4 ประเด็น ซึ่งในการระดมความคิดเห็นถึงประเด็นการพัฒนาได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ อาจารย์สาขาวิชาการจัดการเกษตรอินทรีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการและเปิดเวทีรับฟังความเห็น โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมนำเสนอประเด็นการพัฒนาภายใต้ร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 - 2570 ประกอบด้วย

ดร.ชมชวน บุญระหงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ นำเสนอประเด็นการพัฒนาที่ 1 ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย ได้แก่ (1) ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ และ (2) พัฒนาและบริหารจัดการฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายประเด็นการพัฒนา 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) จำนวนงานวิจัยและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ถูกนำไปใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10 เรื่องต่อปี และ (2) ฐานข้อมูลสินค้าเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน 1 ระบบ ในปี 2570 ซึ่งวิทยากรมีความเห็นเพิ่มเติม ให้เน้นการส่งเสริมวิจัยแบบมีส่วนร่วม พัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ และสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมหลักสูตรการจัดการเกษตรอินทรีย์และนวัตกรรม

นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นำเสนอประเด็นการพัฒนาที่ 2 พัฒนาศักยภาพการผลิต และการบริหารจัดการตลอดโซ่อุปทานเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 3 ประเด็นย่อย ได้แก่ (1) พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ (2) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิต และการแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ และ (3) บริหารจัดการปัจจัยการผลิตโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายประเด็นการพัฒนา 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) จำนวนเกษตรกรที่เข้าสู่กระบวนการเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 10,000 คนต่อปี (2) จำนวนศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบ วงจรใน 18 กลุ่มจังหวัด อย่างน้อยกลุ่มจังหวัดละ 1 แห่ง ภายในปี 2570 และ (3) จำนวนสถาบันเกษตรกรที่ทำหน้าที่รวบรวมและแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี โดยเห็นว่าควรให้ความสำคัญเรื่องการอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และประโยชน์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ ผ่านระบบ Online และสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการส่งเสริมเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start up มุ่งสู่ธุรกิจการแปรรูปสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ นำเสนอ ประเด็นการพัฒนาที่ 3 ยกระดับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย ได้แก่ (1) ยกระดับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ และ (2) ยกระดับการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายประเด็นการพัฒนา 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) มาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์ของไทยเท่าเทียมกับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน ภายในปี 2570 (2) จำนวนหน่วยตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองระบบงานตามระบบสากล เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 แห่ง ภายในปี 2570 และ (3) จำนวนหน่วยตรวจสอบรับรองของไทยขึ้นทะเบียนอยู่ในรายชื่อหน่วยตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์กับประเทศคู่ค้าหลักอย่างน้อย 2 แห่ง ภายในปี 2570 ทั้งนี้ เห็นควรเน้นความสำคัญของการขับเคลื่อนขยายผลมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) โดยได้จัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์ PGS แห่งประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงการส่งเสริมระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยเทียบเคียงมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐานอาเซียน (ASOA) เป็นต้น

นายชฤทธิพร เม้งเกร็ด ผู้จัดการสามพรานโมเดล นำเสนอ ประเด็นการพัฒนาที่ 4 พัฒนาการตลาด และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย ได้แก่ (1) พัฒนาการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์อินทรีย์ และ (2) สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายประเด็นการพัฒนา 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อปี และ (2) จำนวนกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ระบบตลาดออนไลน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี โดยเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริม การเชื่อมโยงตลาดชุมชนกับตลาด Online เพื่อนำเสนอสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ภาคบริการในส่วนของการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม หรือร้านอาหาร เน้นการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความสามารถในการผลิตของเกษตรกรได้

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความเห็นในประเด็นที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) ด้านวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ควรเพิ่มแนวทางในการเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ รวมถึงสร้างกลไกและกระบวนการที่สามารถนำความรู้หรืองานวิจัยที่มีอยู่ไปสู่การปฏิบัติ และต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ (2) ด้านการผลิต ควรเพิ่มแนวการลด/สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการขอขึ้นทะเบียนปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการจัดทำแอพพลิเคชั่นสำหรับการค้นหาพื้นที่เกษตรอินทรีย์ (3) ด้านมาตรฐาน ควรเพิ่มแนวทางการส่งเสริมการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) เพื่อเป็นเครื่องมือในการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกร โดยอ้างอิงมาตรฐาน Organic Thailand หรือมาตรฐานสากล เพื่อพัฒนาและยกระดับการผลิตเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป และ (4) ด้านตลาด ควรเพิ่มแนวทางส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ อาทิ BIOFACH Southeast Asia หรืองานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์ระดับประเทศของไทย อาทิ Organic and Natural Expo รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ผ่านทุกช่องทางของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ สศก. จะนำข้อมูลที่ได้จากการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมสัมมนา ไปใช้ประกอบการปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการฯ ให้มีความครอบคลุมและครบถ้วนยิ่งขึ้น ก่อนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอแผนฉบับสมบูรณ์ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อทราบ รวมถึงนำแผนเข้าสู่ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) พร้อมทั้งประกาศใช้ต่อไป

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เร่งเครื่อง ลุยแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ ระยะ 5 ปี ให้สมบูรณ์ ดันไทยเป็นผู้นำอาเซียนเกษตรอินทรีย์ ภายในปี 2570

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. ARDA จับมือ ฟาร์ม เอ็กซ์โป และพันธมิตร เปิดศึก AGRITHON by ARDA Season 2 เฟ้นหาสุดยอดไอเดียปลุกพลังนวัตกรรมเกษตรไทย ชิงทุนวิจัยรวมกว่า 100
๑๘ เม.ย. กรุงศรี ฉลอง 80 ปี ดูหนัง 80 บาท ที่ Major Cineplex เมื่อชำระด้วยบัตรกรุงศรี เดบิตและบัตร Krungsri Boarding
๑๘ เม.ย. แบรนด์ซุปไก่สกัด รณรงค์ขับขี่ปลอดภัยในโครงการ สมองล้าอย่าขับ พักดื่มแบรนด์ จับมือ ตำรวจทางหลวง และ ตำรวจจราจร
๑๘ เม.ย. ซัมซุงจัดใหญ่! เป็นเจ้าของ ตู้เย็น Side by Side รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมรับสิทธิพิเศษแบบจุใจ ได้แล้ววันนี้
๑๘ เม.ย. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดกนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนเมษายนนี้
๑๘ เม.ย. EXIM BANK ร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รับมือนโยบายภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ
๑๘ เม.ย. ปักหมุด! เตรียมจัดงาน PET Expo Thailand 2025 จัดยิ่งใหญ่ครบรอบ 25 ปี
๑๘ เม.ย. ลดคลายร้อน ช้อปแลคตาซอย 1,000 ลด 100 พร้อมชวนร่วมสนุกถ่ายภาพคู่แลคตาซอย ลุ้น 10 รางวัล
๑๘ เม.ย. DITP ประชุมผู้จัดแสดงสินค้า เตรียมความพร้อมสู่เวที THAIFEX - ANUGA ASIA 2025
๑๘ เม.ย. โรงแรมเครือดุสิตธานี เปิดตัวโปรพิเศษต้อนรับซัมเมอร์ 'A Night on Us' เติมเต็มวันพักผ่อนอย่างมีความสุขกับโรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิตธานีทั่วโลก