"ชัวร์ก่อนแชร์ : โรคฝีดาษวานร" โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่ยังต้องเฝ้าระวัง จุฬาฯ ชี้วิทยาการล่าสุดตรวจวินิจฉัยโรคโดยแพทย์จุฬาฯ

พฤหัส ๒๓ มิถุนายน ๒๐๒๒ ๐๙:๓๔
จากการเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 9 เรื่อง "ชัวร์ก่อนแชร์: โรคฝีดาษวานร" ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง เกษแดงสกลวุฒิ ภาควิชาพยาธิวิทยาและหน่วยชันสูตรโรคสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ วิทยากร ได้ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เพื่อสร้างความตระหนักในการเฝ้าระวังและป้องกันตนเองจากโรคนี้
ชัวร์ก่อนแชร์ : โรคฝีดาษวานร โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่ยังต้องเฝ้าระวัง จุฬาฯ ชี้วิทยาการล่าสุดตรวจวินิจฉัยโรคโดยแพทย์จุฬาฯ

ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง เกษแดงสกลวุฒิ ภาควิชาพยาธิวิทยาและหน่วยชันสูตรโรคสัตว์ คณะ สัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลถึงจุดกำเนิดของโรคฝีดาษลิงว่า เกิดจากเชื้อไวรัส Monkeypox ที่มีความใกล้เคียงกับโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ พบครั้งแรกเมื่อปี 2501 ในห้องแลปที่ประเทศเดนมาร์ก มาจากลิงที่ ส่งมาจากสิงคโปร์เพื่อใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ส่วนการพบโรคนี้ในมนุษย์ครั้งแรกเมื่อปี 2513 ที่ประเทศคองโก ทวีปแอฟริกา พาหะของโรคฝีดาษลิง ได้แก่ "สัตว์ฟันแทะ" เช่น กระรอก หนู แพรีด็อก ฯลฯ อาการที่เกิดขึ้นในสัตว์จะแสดงออกไม่ชัดเจนเท่ากับมนุษย์ มีลักษณะเป็นผื่น ไข้ และอาการทางระบบทางเดินหายใจ แล้วเข้าสู่ปอด ที่สำคัญคือลิงต่างๆ เช่น ลิงชิมแปนซี ลิงอุรังอุตัง ลิงแสม ลิงวอก ที่อาจจะมีอาการคล้ายคลึงกับมนุษย์ การติดเชื้อฝีดาษลิงในมนุษย์สามารถติดต่อได้จากการโดนสารคัดหลังจากสัตว์ป่วยที่มีเชื้ออยู่ ส่วนมากในทวีปแอฟริกาจะติดในผู้ชายวัยกลางคน กลุ่มคนที่ล่าสัตว์และนำเนื้อมาชำแหละ ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสนี้ได้เช่นกัน

ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง กล่าวว่าการได้รับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิงในคน เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดและโดนสัตว์ที่มีเชื้อกัด ขีดข่วน โดยไม่ได้ติดต่อได้ง่ายจากละอองฝอยในอากาศ ส่วนสัตว์ที่ติดเชื้อเมื่ออยู่ในกรงเดียวกันก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ทั้งนี้ ลิงในประเทศไทยยังไม่มีประวัติการติดโรคนี้ แต่อนาคตก็จะต้องเฝ้าระวังต่อไป สำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมวยังไม่มีข้อมูลการเกิดโรคนี้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ คนที่เลี้ยงสัตว์ Exotic หรือสัตว์เลี้ยงแปลกๆ และผู้ที่ต้องใกล้ชิดคลุกคลีกับสัตว์ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโรคฝีดาษลิงในสัตว์ จึงต้องทำการเฝ้าสังเกตอาการและศึกษาเป็นกรณีไป

"การเลี้ยงสัตว์ให้มีสุขภาพดี สุขอนามัยเป็นเรื่องที่สำคัญ ช่วยป้องกันโรคทั้งหลายได้ หากพบว่าสัตว์ป่วยและมีความเสี่ยง ต้องพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคต่อไป สิ่งที่ต้องระวังคือการนำเข้าสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาโดยไม่รู้ที่มา เพราะถึงแม้สัตว์จะเป็นพาหะนำโรค แต่อาการของสัตว์จะไม่แสดงออกชัดเจน ควรมีการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง รวมทั้งควรให้ความรู้กับคนที่เลี้ยงสัตว์ต่างถิ่นในเรื่องความเสี่ยงและวิธีการรักษาสุขอนามัยทั้งสัตว์และผู้เลี้ยงด้วย" ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง ให้คำแนะนำ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่าขณะนี้พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในหลายประเทศทั่วทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ โรคฝีดาษลิง มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดอยู่ในขณะนี้ และสายพันธุ์แอฟริกากลางที่มีความรุนแรงมาก อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 10 การติดต่อโรคนี้จากคนสู่คน เป็นเรื่องสำคัญในทางการแพทย์ ซึ่งจากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมในปีนี้เปลี่ยนไปจากที่พบในปี 2017 มากกว่า 40 ตำแหน่ง อนุมานว่าอาจจะเป็นผลการปรับตัวของไวรัสต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ ซึ่งทำให้ ติดเชื้อไวรัสได้ง่ายขึ้น จึงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวถึงการแพร่เชื้อโรคฝีดาษลิงในคนว่าสามารถเกิดได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของคนที่ติดเชื้อที่ติดอยู่บนพื้นผิวสัมผัสต่างๆ โดยในระยะ 3 - 4 วันแรก ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัส แล้วจึงเกิดเป็นตุ่มแผลกระจายตามจุดต่างๆ แผลที่อวัยวะเพศและบริเวณรอบทวารหนัก เมื่อผื่น ตุ่มหนองแห้งจะตกสะเก็ดโดยทิ้งรอยโรค และสามารถหายเองได้ในระยะเวลา 2 - 4 สัปดาห์ อาการข้างเคียงที่เกิดร่วมคือมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต และแผลในปาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังหรือศีรษะ มีอาการอ่อนเพลีย ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ แต่ก็มีเงื่อนไขในเรื่องเวลาและความเข้มข้นของเชื้อ ซึ่งจะต้องเก็บตัวอย่างน้อย 60 วันขึ้นไป เพราะยังมีเชื้อในสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น เลือด ปัสสาวะ ฯลฯ ที่อาจจะเป็นพาหะได้ เนื่องจากพบว่ามีเคสคนไข้รายที่ 4 ที่มีเชื้อกลับขึ้นมาอีกในวันที่ 75 ของการกักตัว หลังจากที่ไม่พบเชื้อเลยในวันก่อนหน้า

สำหรับวิธีการรักษานั้น ยังคงใช้วิธีแบบประคับประคอง ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาอนุมัติวัคซีนในคน 2 ชนิดคือ JYNNEOSTM และ ACAM2000TM และมียารักษาโรคไข้ทรพิษ คือ Tecovirimat (ST246) ที่สามารถใช้กับโรคนี้ได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งมีอายุมากขึ้น สุขภาพไม่สมบูรณ์ วัคซีนในร่างกายก็จะลดลงตามไปด้วย ดังนั้นต้องมีการฉีดวัคซีนสม่ำเสมอเพื่อให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันหมู่ 100% เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในชุมชน โรคถึงจะไม่กลับมาระบาดอีก

ประเทศไทยจะต้องคอยสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ตามมติประกาศของกระทรวงสาธารณสุขให้โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลเรื่องโรคฝีดาษลิงอย่างเร่งด่วน กระทรวงสาธารณสุขอยู่ในขั้นตอนทดลองวัคซีนฝีดาษคนหรือโรคไข้ทรพิษที่มีอยู่ว่าสามารถ ทำให้เชื้อไวรัสนี้อ่อนกำลังลงหรือไม่ แม้โรคฝีดาษลิงมีความรุนแรงน้อย เมื่อติดเชื้อแล้วมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1-10% เท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือการไม่ทราบว่าติดเชื้อแล้วจะมีระดับความรุนแรงมากขนาดไหน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์เผยว่า สุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญมาก การป้องกันตนเองและไม่ไปสัมผัสเชื้อจะปลอดภัยที่สุด การใส่หน้ากากสามารถป้องกันได้หลายๆ โรคไม่ใช่แค่โรคโควิด-19 หรือโรคฝีดาษลิง แต่ยังลดการเกิดไข้หวัดใหญ่ได้ด้วย หากมีความเสี่ยงต้องกักตัวไว้ก่อน ในการตรวจ แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกาย มีการประเมินหลายด้านจึงจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคฝีดาษลิงได้ เพราะต้องได้รับการตรวจตัวอย่างในตุ่มที่ขึ้นตามร่างกายเนื่องจากอาจมีโรคอื่นแทรกซ้อนได้

"ประเทศไทยมีความพร้อมในการป้องกันโรคฝีดาษลิงโดยมีความร่วมมือกันทั้งแพทย์ สัตวแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันสุขภาพสัตว์ กรมปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังติดตามโรคจากสัตว์ โดยประสานองค์ความรู้กับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกด้านการค้นคว้าและอบรมไวรัสจากสัตว์สู่คน มีบริการตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสฝีดาษลิงโดยการตรวจสารพันธุกรรมสไวรัสจีนัส Orthopoxvirus ด้วยเทคนิค Conventional PCR และตรวจจำแนกไวรัสฝีดาษลิงด้วยการทดสอบลำดับสารพันธุกรรมของเชื้อ สามารถติดต่อส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคได้ที่ โทร. 0-2256-4000 ต่อ 3562, 09-4364-1594, 08-5858-1469

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ

ชัวร์ก่อนแชร์ : โรคฝีดาษวานร โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่ยังต้องเฝ้าระวัง จุฬาฯ ชี้วิทยาการล่าสุดตรวจวินิจฉัยโรคโดยแพทย์จุฬาฯ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๔๖ MEDEZE ต้อนรับสถาบันนักลงทุน CSI เยี่ยมชมบริษัท
๑๓:๔๙ บริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด รับประกาศนียบัตร เครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ประจำปี 2567
๑๓:๔๓ AJA จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 ผถห. โหวตผ่านทุกวาระ พร้อมเปิดตัวกลยุทธ์ใหม่ รีแบรนด์ AJ EV BIKE สู่
๑๓:๕๑ SCAP ตั้งเป้าระดมทุนโดยการขายหุ้นกู้1,600 ล้านบาท ชูดอกเบี้ยสูงสุด 5.05% ต่อปี ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือที่ BBB เปิดขายวันที่ 31 ม.ค. และ 3-4 ก.พ.
๑๒:๐๐ สกสว. - สวทช. รุกปั้นกลุ่ม ผู้จัดการงานวิจัยและนวัตกรรม หนุนระบบบุคลากร
๑๒:๑๕ HMD ประเทศไทย เปิดแผนธุรกิจปี 68 ย้ำมุ่งพัฒนาสมาร์ทโฟนคุณภาพ ด้วยปรัชญา ใช้งานปลอดภัย ไว้ใจได้ ด้วยราคาเข้าถึงง่าย
๑๑:๑๒ VEHHA Hua Hin คว้า Fitwel มาตรฐานคอนโดระดับโลก ยกระดับคุณภาพชีวิตระยะยาว ต่อยอดจุดแข็งสู่ที่สุดของความครบครัน
๑๑:๐๐ ttb reserve มอบประสบการณ์ใหม่เหนือระดับเพื่อลูกค้าคนสำคัญ
๑๑:๓๙ ศิลปะจักสานหลินซู ภูมิปัญญาโบราณสู่ตลาดโลก
๑๑:๐๐ ฉลองครบ 10 ปี HOUSE OF LITTLEBUNNY กระเป๋าแบรนด์ไทย จากกระต่ายน้อยตัวเล็ก เติบโตสู่ตลาดอินเตอร์ จัดแฟชั่นโชว์ยิ่งใหญ่