อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการเรียนในยุคปัจจุบันที่ต้องมีความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ทั้งแบบ Soft Skill และ Hard Skill เราจึงมุ่งเน้นการปลูกฝังทัศนคติของการไม่หยุดเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) รวมถึงไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มาก่อน เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสอนและสร้างให้นิสิตสามารถอยู่ได้ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งที่ได้ตามมาคือ นิสิตเกิดการเรียนรู้ ปรับตัวได้ตามสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงเป็นเป้าหมายของการได้เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายดนุช ตันเทอดทิตย์ ได้กล่าวถึง นโยบายการผลิตกำลังคนของ อว. โดยได้ขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเรียนการสอนทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ทั้งแบบ Soft Skill และ Hard Skill เพื่อให้มีทักษะและสมรรถนะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อให้มีความสามารถในการทำงานได้หลากหลายตามความต้องการของผู้เรียน และตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ
จากนั้น ประธานอนุกรรมการ รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ทิพากร กล่าวถึง นโยบายการผลิตกำลังคนในโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ จัดทำขึ้นเพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย เป็นหลักสูตรที่ผสมผสานสัดส่วนของวิชาการและวิชาชีพอย่างลงตัว สร้างโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ได้เรียนรู้การปฏิบัติงานจริงที่ตรงกับความต้องการตลาดแรงงาน พร้อมเพิ่มอาชีพให้คนวัยทำงาน เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning)
มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทยตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 จำนวน 5 หลักสูตร แบ่งเป็นประเภท Degree และ ประเภท Non-Degree ดังนี้
ประเภท Degree จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่
- หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชอฟต์แวร์
- โครงการหมวดวิชาศึกษาทั่วไปสู่กำลังคนพันธุ์ใหม่ที่มีสมรรถนะสูง
ประเภท Non-Degree จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่
- หลักสูตรนักเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการเกษตรสู่ Smart farming
- หลักสูตรนักแปรรูปเนื้อสัตว์อัจฉริยะ (Smart Meat Processors)
- หลักสูตรการเพิ่มศักยภาพการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารแบบบูรณาการ สำหรับในปีการศึกษา 2564 มหาวิทยาลัยพะเยาได้เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ประเภท Non-Degree เพิ่มเติมอีก 3 หลักสูตร ได้แก่
- หลักสูตรผู้ประกอบการเกษตรแม่นยำด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ
- หลักสูตรนักเทคโนโลยีจัดการตลาดธุรกิจดิจิทัล สู่ Smart Marketing
- หลักสูตรธุรกิจปลาสวยงามออนไลน์แบบครบวงจรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม "โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่" มหาวิทยาลัยพะเยาในครั้งนี้ คณะผู้ตรวจเยี่ยม ฯ ได้สัมภาษณ์ตัวแทนนิสิต อาจารย์ และสถานประกอบการ เยี่ยมชมนิทรรศการ พร้อมรับฟังการนำเสนอโครงการนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน (ประเภท Non-Degree) ซึ่งหลักสูตรใหม่ที่เกิดขึ้น จะสามารถผลิตนิสิตที่มีความเชี่ยวชาญตรงตามความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีทักษะสังคมและชีวิต (Social and Life Balance) ที่เป็นสากล มีความรับผิดชอบต่อสังคม ตอบโจทย์ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย ต่อไป
ที่มา: มหาวิทยาลัยพะเยา