ผลการศึกษาใหม่เผยผู้ป่วยโควิด-19 มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาท

จันทร์ ๒๗ มิถุนายน ๒๐๒๒ ๐๘:๑๐
ผลการศึกษาใหม่ที่นำเสนอในการประชุมสถาบันประสาทวิทยายุโรป (European Academy of Neurology หรือ EAN) ครั้งที่ 8 ระบุว่า ผู้ป่วยนอกที่มีผลโควิด-19 เป็นบวก มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาท (Neurodegenerative Disorders) เมื่อเทียบกับผู้ที่มีผลตรวจเป็นลบ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ประวัติสุขภาพของประชากรชาวเดนมาร์กมากกว่าครึ่งหนึ่ง และพบว่าผู้ที่มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และโรคหลอดเลือดสมองตีบ

จากผู้ป่วยจำนวน 919,731 คนที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยพบว่า 43,375 คนที่มีผลตรวจเป็นบวก มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น 3.5 เท่า, โรคพาร์กินสัน 2.6 เท่า, โรคหลอดเลือดสมองตีบ 2.7 เท่า และโรคเลือดออกในสมอง 4.8 เท่า ทั้งนี้ การอักเสบของระบบประสาทอาจนำไปสู่การพัฒนาอย่างรวดเร็วของโรคความเสื่อมของระบบประสาท และผู้เขียนได้เน้นย้ำนัยสำคัญทางวิทยาศาสตร์ของผลที่ตามมาในระยะยาวหลังติดเชื้อโควิด-19

การศึกษาครั้งนี้ได้ทำการวิเคราะห์ผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกชาวเดนมาร์กระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2564 รวมถึงผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ช่วงก่อนเกิดโรคระบาด โดยนักวิจัยได้ใช้เทคนิคทางสถิติในการคำนวณความเสี่ยงสัมพัทธ์ และผลลัพธ์ถูกจำแนกตามสถานะการรักษาในโรงพยาบาล อายุ เพศ และโรคที่เกิดร่วม

ดร. พาร์ดิส ซาริฟการ์ (Dr. Pardis Zarifkar) หัวหน้าทีมวิจัยจากแผนกประสาทวิทยา โรงพยาบาลริกส์ฮอสพิทาเล็ต (Rigshospitalet) ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก อธิบายว่า "แม้ว่าจะเกิดการระบาดของโควิด-19 มานานกว่าสองปีแล้ว แต่ลักษณะเฉพาะและวิวัฒนาการของผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อโรคทางระบบประสาทกลับยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน การศึกษาหลายครั้งก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการทางระบบประสาท แต่จนถึงตอนนี้เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าโควิด-19 มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคทางระบบประสาทที่เฉพาะเจาะจงหรือไม่ และแตกต่างจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ หรือไม่"

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคทางระบบประสาทส่วนใหญ่ในผู้ป่วยที่ผลโควิด-19 เป็นบวก ไม่ได้มีมากกว่าผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ แต่ผู้ป่วยโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่และปอดบวมจากแบคทีเรีย ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 80 ปี

อัตราการเกิดโรคความเสื่อมของระบบประสาทอื่น ๆ เช่น โรคปลอกประสาทอักเสบ, โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, โรคระบบประสาทกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome) และโรคลมหลับ (Narcolepsy) ไม่เพิ่มขึ้นหลังจากเป็นโรคโควิด-19 โรคไข้หวัดใหญ่ หรือปอดบวม

ดร. พาร์ดิส ซาริฟการ์ กล่าวเสริมว่า "ผลการค้นพบเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจถึงผลกระทบระยะยาวของโควิด-19 ที่มีต่อร่างกาย รวมถึงผลของการติดเชื้อที่มีต่อโรคความเสื่อมของระบบประสาทและโรคหลอดเลือดสมอง"



ที่มา:  พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ