นอกจากนี้ ทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ขอเชิญเยี่ยมชมประวัติและผลงาน ในหัวข้อ "ปราชญ์ภาษาไทยของแผ่นดิน" ทุกวันพุธ - อาทิตย์ ณ หอเชิดชูเกียรติ พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา รวมไปถึงกำหนดจัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์การเฉลิมฉลอง วันที่ 5 ก.ค. 2565 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 200 ปี พระยาศรีสุนทรโวหาร ณ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เพื่อประกาศเกียรติคุณยกย่องบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา และวัฒนธรรม ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศต่อไปด้วย
ทั้งนี้ พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยพาหะ เดิมชื่อน้อย เป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365 ที่บ้านคลองโสธร ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในลำดับที่ 1457 ว่า "อาจารยางกูร" เมื่อ พ.ศ. 2457 ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2434 รวมสิริอายุ 69 ปี ท่านเป็นนักปราชญ์ทางภาษาและหนังสือ เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ เป็นองคมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็น "อาจารย์ใหญ่" คนแรกของโรงเรียนหลวง และครูสอนหนังสือไทย เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า และพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอีกหลายพระองค์ ได้นิพนธ์วรรณกรรมทั้งร้อยแก้ว โคลง ฉันท์ กาพย์กลอน ลิลิต ซึ่งล้ำค่าไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตำราเกี่ยวกับภาษาไทย ที่สำคัญก็คือ แบบเรียนหลวง 6 เล่ม ได้แก่ "มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยคสังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์" และหนังสือแบบเรียนภาษาไทยอื่น ๆ อีก 12 เล่ม มีผลงานด้านหนังสือประเภท สุภาษิต วรรณคดี คำฉันท์ ลิลิต บทเสภา หนังสือด้านศาสนา และผลงานเบ็ดเตล็ด รวม 15 เรื่อง เป็นผู้ประพันธ์ เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เนื้อเพลงแรก ผลงานของท่านเป็นมรดกตกทอดมาถึงอนุชนรุ่นหลัง แม้จะมีการปรับเปลี่ยนบทเรียน แต่ล้วนมีพื้นฐาน มาจากหนังสือเรียน 18 เล่มนี้ ท่านได้รับยกย่องว่าเป็น "ศาลฎีกาในเรื่องหนังสือไทย" อีกด้วย
ที่มา: กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม