นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่งกว่า 80 ปีในธุรกิจประกันชีวิต ผนวกกับการพัฒนาองค์กรอย่างไม่หยุดยั้ง วันนี้ไทยประกันชีวิตจึงพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจด้วยวิสัยทัศน์การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน ผ่านการปรับกระบวนทัศน์ในการดำเนินธุรกิจทุกด้าน โดยยกระดับสู่การเป็น Data Driven Company ดำเนินธุรกิจผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงกลยุทธ์ เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานแบบครบวงจร และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในลักษณะเฉพาะบุคคลได้อย่างแท้จริง การเสนอขายหุ้น IPO ของไทยประกันชีวิตในครั้งนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่มิติใหม่ รองรับ การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งความแข็งแกร่งของไทยประกันชีวิตในปัจจุบัน พร้อมด้วยยุทธศาสตร์ ที่จะสร้างการเติบโตในอนาคตที่ชัดเจน เชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่าไทยประกันชีวิตจะเป็นบริษัทประกันชีวิตที่สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย ตลอดจนอยู่เคียงข้างดูแลลูกค้าและคนไทยอย่างยั่งยืน"
สำหรับเงินที่ได้รับจากการระดมทุนในครั้งนี้ ไทยประกันชีวิตจะนำไปใช้ในการเสริมสร้าง ความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคต โดยเน้นลงทุนในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) ผ่านนวัตกรรมที่จะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ และดูแลลูกค้าอย่างครบวงจร การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตรที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับลูกค้าทั่วประเทศ ตลอดจนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน ทั้งสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่นๆ ในอนาคต
นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ไทยประกันชีวิตเป็นบริษัทประกันชีวิตรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่เป็นของคนไทยและก่อตั้งโดยคนไทย ซึ่งแบรนด์ไทยประกันชีวิตมีความเป็นเอกลักษณ์ น่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้เราได้รับความไว้วางใจ และรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้ามาได้อย่างยาวนาน โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ไทยประกันชีวิตมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับกว่า 4.4 ล้านกรมธรรม์
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและครอบคลุม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกช่วงชีวิต ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ทั้งเครือข่ายตัวแทน ประกันชีวิตมืออาชีพ ที่มีจำนวนกว่า 64,000 คนกระจายครอบคลุมทั่วประเทศ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 รวมถึงการจัดจำหน่ายผ่านพันธมิตร และช่องทางอื่นๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
จุดแข็งอีกด้านมาจากการที่ไทยประกันชีวิตมีคณะผู้บริหารทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มากด้วยประสบการณ์ในธุรกิจประกันชีวิต อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรธุรกิจ บริษัท เมจิยาสุดะ ไลฟ์ อินชัวรันส์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทประกันชีวิตรายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ไทยประกันชีวิต มีความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งและมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น พร้อมสร้างโอกาส การเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว"
ในส่วนของผลการดำเนินงานในปี 2564 ไทยประกันชีวิตมีส่วนแบ่งทางการตลาดเมื่อพิจารณาจากเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ประมาณ 15% เป็นอันดับที่ 2 ในอุตสาหกรรมประกันชีวิต โดยมีรายได้รวม 109,246 ล้านบาท สามารถสร้างกำไรสุทธิ 8,394 ล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นอัตรา การเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 11.3% ระหว่างปี 2562 - 2564 ขณะที่ในไตรมาส 1 ปี 2565 ไทยประกันชีวิต มีรายได้รวม 25,955 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 3,793 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 14.7% เทียบกับช่วง ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินของไทยประกันชีวิตมีความแข็งแกร่ง โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 บริษัทฯ มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่ที่ 360.6% ซึ่งสูงกว่าข้อกำหนดของ คปภ. ที่กำหนดไว้ที่ 140% อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับในเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมาสถาบัน Fitch Ratings ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของบริษัทฯ ไว้ที่ A- (ระดับสากล) และ AAA (tha) (ระดับภายในประเทศ)
"การเสนอขายหุ้น IPO และนำหุ้น TLI เข้าจะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะเรามีความพร้อมในทุกด้าน บวกกับกระแสการตอบรับอย่างมากจากนักลงทุนสถาบัน ชั้นนำทั่วโลก ส่งผลให้หุ้นไทยประกันชีวิตมีความโดดเด่นจากบริษัทจดทะเบียนรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน และการเสนอขายหุ้น TLI ในครั้งนี้ นับเป็น IPO ของหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน หมวดธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย และเป็น IPO ของบริษัทประกันชีวิตที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 20 กว่าปี ที่ผ่านมา" นางวรางค์ กล่าวเสริม
นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายวานิชธนกิจและตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าของแผนการเสนอขายหุ้น IPO และการนำไทยประกันชีวิตเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ว่า "ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา คณะผู้บริหารของไทยประกันชีวิตได้พบปะกับนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อนำเสนอข้อมูลบริษัทเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยหุ้น TLI ได้รับกระแสการตอบรับที่ดีและความสนใจในการลงทุนเป็นจำนวนมาก แม้ในภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การลงทุนที่มีความผันผวน โดยได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นที่ 16.00 บาทต่อหุ้น และ มีนักลงทุนสถาบัน ชั้นนำทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศรวม 18 ราย สนใจลงทุนเป็น Cornerstone Investors คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 18,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 50.0% ของจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมดในครั้งนี้ จากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ความสามารถในการสร้างผลการดำเนินงานที่มั่นคง และศักยภาพในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องของไทยประกันชีวิต ผมเชื่อว่า TLI จะเป็นหุ้นคุณภาพอีกหนึ่งตัวสำหรับ นักลงทุนและตลาดทุนไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุนในธุรกิจประกันชีวิตของ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย"
ทั้งนี้ Cornerstone Investors ของ TLI ประกอบด้วยนักลงทุนสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น GIC Private Limited, Oaktree Capital Management เป็นต้น รวมถึงนักลงทุนสถาบันชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ บลจ. กสิกรไทย บลจ. ไทยพาณิชย์ บลจ. กรุงศรี บลจ. กรุงไทย บลจ. เอ็มเอฟซี เป็นต้น
หุ้นสามัญของไทยประกันชีวิตที่จะเสนอขายในครั้งนี้ มีจำนวนไม่เกิน 2,155,068,900 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 20.2 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดภายหลังการ IPO ในครั้งนี้ โดยแบ่งออกเป็น (1) การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 850,000,000 หุ้น (2) การเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดยบริษัท วี.ซี. สมบัติ จำกัด จำนวนไม่เกิน 1,166,575,300 หุ้น และ (3) การเสนอขายหุ้นสามัญเดิมโดย Her Sing (H.K.) Limited จำนวนไม่เกิน 138,493,600 หุ้น และอาจ มีการพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-allotment Option หรือ Greenshoe) อีกจำนวนไม่เกิน 161,630,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 7.5 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้ในการรักษาระดับราคาหุ้น (Stabilization) ในช่วง 30 วันแรกหลังหุ้นของ TLI เข้าซื้อขาย ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้นและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน โดยปัจจุบันแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวนได้รับการอนุมัติ จากสำนักงาน ก.ล.ต. และได้มีผลใช้บังคับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในการเสนอขายหุ้นสามัญของ TLI ในครั้งนี้ มีบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการ จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายร่วม รวมทั้งมีผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 8 รายประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัดบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด โดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินและดำเนินการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น (Overallotment and Stabilizing Agent)
ผู้ลงทุนที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และหนังสือชี้ชวนของ TLI ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ นักลงทุนสัมพันธ์ได้ที่เว็บไซต์ investor.thailife.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร. 02-354-2424-5
ที่มา: โอกิลวี่ ประเทศไทย