ฮ่องกงได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยรวมของประเทศจีน ส่งผลให้มีบทบาทสำคัญในการหมุนเวียนภายในประเทศ และเป็นผู้สนับสนุนหลักที่เชื่อมโยงการหมุนเวียนภายในประเทศและต่างประเทศเข้าด้วยกัน
ณ สิ้นปี 2564 การลงทุนจากฮ่องกงเข้าสู่แผ่นดินใหญ่มีมูลค่าสูงถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 57.6% ของเม็ดเงินลงทุนจากนอกแผ่นดินใหญ่ทั้งหมด
"การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการพัฒนาโดยรวมของประเทศจีนและการพยายามทำตามบทบาทของตนภายใต้ยุทธศาสตร์ระดับชาติ ส่งผลให้ฮ่องกงสามารถรักษาจุดแข็งด้านการเปิดกว้างในระดับสูง และสอดคล้องกับกฎระเบียบระหว่างประเทศ" ประธานาธิบดีสี จินผิง ผู้นำจีน กล่าวเมื่อวันศุกร์ในระหว่างการประชุมเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี ฮ่องกงกลับคืนสู่มาตุภูมิ
"การขยายความครอบคลุมของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนใช้กลไกที่เอื้อต่อการสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างฮ่องกงกับแผ่นดินใหญ่ ส่งผลให้คนฮ่องกงมีโอกาสที่ดีกว่าในการเริ่มธุรกิจของตนเองและประสบความสำเร็จ" ผู้นำจีนกล่าวเสริม
คว้าประโยชน์จากเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า
เขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area) เป็นโครงการระดับชาติที่มีความสำคัญ ซึ่งริเริ่มและส่งเสริมโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยมีเป้าหมายในการก้าวขึ้นเป็นพื้นที่อ่าวและกลุ่มเมืองระดับโลก
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 นายสี จิ้นผิง ได้เป็นสักขีพยานในการลงนามกรอบข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจของจีน กับรัฐบาลของมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า
หนึ่งปีต่อมา นายสี จิ้นผิง ได้ประกาศเปิดสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ซึ่งเป็นโครงการสะพานข้ามทะเลยักษ์ใหญ่ที่เชื่อมกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊าเข้าด้วยกัน โดยได้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นรูปธรรมของวิสัยทัศน์ที่จีนมีต่อเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีการเปิดเผยร่างแผนการพัฒนาเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เพื่อสร้างต้นแบบของการพัฒนาคุณภาพสูง พื้นที่อ่าวเฟิร์สคลาสระดับนานาชาติ และกลุ่มเมืองระดับโลก
ต่อมาในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ได้มีการเปิดตัวแผนพัฒนาเขตความร่วมมือเฉียนไห่สำหรับมหานครทางตอนใต้อย่างเซินเจิ้นและฮ่องกง โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เขตดังกล่าวรับบทบาทผู้นำและเป็นแบบอย่างในการพัฒนาเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า
จำนวนวิสาหกิจที่ได้รับทุนจากฮ่องกงในเขตเฉียนไห่เพิ่มขึ้น 156% เมื่อเทียบรายปีในปี 2564 นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนจากนอกแผ่นดินใหญ่ทั้งหมดที่ใช้จริงในเขตเฉียนไห่ในปีที่แล้วนั้น 93.8% มาจากฮ่องกง
คนฮ่องกงก็ได้รับประโยชน์จากเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊าเช่นกัน โดยผู้ประกอบวิชาชีพจากฮ่องกงและมาเก๊าจาก 8 ภาคส่วน เช่น ครู แพทย์ และมัคคุเทศก์ ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติงานในแผ่นดินใหญ่ด้วยการรับรองคุณวุฒิร่วมกัน จนถึงตอนนี้มีผู้ประกอบวิชาชีพกว่า 3,000 คนได้รับการรับรองคุณวุฒิในแผ่นดินใหญ่แล้ว
นายสี จิ้นผิง กล่าวในงานเฉลิมฉลองว่า รัฐบาลกลางสนับสนุนฮ่องกงอย่างเต็มที่ในการคว้าโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ที่เป็นผลมาจากการพัฒนาของจีน และสนับสนุนฮ่องกงในการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า
ธรรมาภิบาลระดับชาติ
"นับตั้งแต่ฮ่องกงกลับคืนสู่มาตุภูมิ ฮ่องกงได้ถูกรวมเข้ากับระบบการปกครองของจีนอีกครั้ง และมีการวางระเบียบตามรัฐธรรมนูญโดยยึดหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" เป็นแนวทางพื้นฐาน" นายสี จิ้นผิง กล่าว
พลเมืองจีนที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงสามารถมีส่วนร่วมในการปกครองของทั้งจีนและฮ่องกงตามที่กฎหมายกำหนด
ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ชุดที่ 9 ในปี 2541 เจ้าหน้าที่จากฮ่องกงได้เริ่มเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับแผนการพัฒนาประเทศและปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน และชูความคาดหวังของประชาชนเป็นวาระสำคัญที่สุดของประเทศ
ผู้แทนกว่า 5,600 คนจากทุกสาขาอาชีพในฮ่องกงได้เข้าเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน (CPPCC) ในทุกระดับ ซึ่งรวมถึงกว่า 200 คนที่ได้เข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมการแห่งชาติของ CPPCC โดยทุกคนล้วนเป็นที่ปรึกษาที่ทรงคุณค่าในโครงการระดับชาติที่สำคัญ และมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จากฮ่องกง 36 คนได้รับเลือกให้เข้าร่วมทำงานกับสภาประชาชนแห่งชาติ ชุดที่ 13 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1.2% ของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด และเจ้าหน้าที่จากฮ่องกงกว่า 200 คน ได้เข้าเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งประชาชนจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 10% ของทั้งหมด โดยอัตราส่วนทั้งสองถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรฮ่องกงต่อประชากรทั่วประเทศจีนซึ่งอยู่ที่ราว 0.5%
https://news.cgtn.com/news/2022-06-29/Hong-Kong-25-years-on-Better-integrating-into-national-development-1bfyY0p1lWo/index.html