ฟิทช์ เรทติ้งส์: แผนการเข้าซื้อกิจการธุรกิจบรอดแบนด์ของ AIS ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างการเติบโต

พฤหัส ๐๗ กรกฎาคม ๒๐๒๒ ๑๖:๑๘
ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่าแผนการเข้าซื้อกิจการบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ เซอร์สิส จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ซึ่งเป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โดย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตของกำไรอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการเติบโตที่ช้าลงของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ การเข้าซื้อกิจการจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบกับอันดับเครดิต (Rating Headroom) ของ AIS ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามอัตราส่วนหนี้สินของ AIS ที่อยู่ในระดับต่ำจะช่วยให้บริษัทสามารถรองรับการลงทุนในครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของรายได้ และกำไรในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า

AIS ประกาศในวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ว่า บริษัทได้อนุมัติให้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นร้อยละ 100 เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด และเข้าซื้อหน่วยลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 19 ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF ซึ่งเป็นเจ้าของโครงข่ายไฟเบอร์ที่ TTTBB ให้บริการอยู่ จากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด คิดเป็นมูลค่ารวม 3.24 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทที่เกี่ยวข้องคาดว่าธุรกรรมจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 โดยยังขึ้นอยู่กับการได้รับการอนุมัติจาก ผู้ถือหุ้นและหน่วยงานกำกับดูแล

การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ AIS ในการสร้างความแข็งแกร่งจากการให้บริการร่วมกันของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และธุรกิจบรอดแบนด์ (Fixed-Mobile Convergence) ซึ่งส่งผลให้ AIS สามารถเพิ่มการกระจายตัวของรายได้จากการให้บริการ จากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่มาจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไปยังการให้บริการโทรคมนาคมอื่นๆ ได้แก่ ทีวี อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และบริการไร้สาย และเพิ่มความแข็งแกร่งของสถานะทางธุรกิจของบริษัท ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 18 หลังจากการเข้าซื้อกิจการแล้วเสร็จ จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 6 การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะทำให้สถานะทางการตลาดของ AIS ปรับตัวดีขึ้น และกลายเป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตรายใหญ่อันดับที่สองในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 15 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุด ซึ่งได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 38 นอกจากนี้ TTTBB จะช่วยให้ AIS เข้าถึงลูกค้าในตลาดภูมิภาค ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ AIS มีโครงข่ายให้บริการที่จำกัด และเพิ่มความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดในพื้นที่เมืองใหญ่ที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว

ฟิทช์คาดว่าตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากสัดส่วนการให้บริการบรอดแบนอินเทอร์เน็ตต่อครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 53 ในปี 2564 การแข่งขันในธุรกิจดังกล่าวมีความรุนแรงน้อยกว่า ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เข้าสู่ภาวะอิ่มตัว เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเข้าซื้อกิจการดังกล่าว เกิดขึ้นหลังความพยายามในการเข้าซื้อกิจการและควบรวมกิจการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในธุรกิจโทรคมนาคมไทยในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงการควบรวมกิจการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คู่แข่ง ซึ่งได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha) เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ) และ TRUE โดยการควบรวมกิจการดังกล่าวเกิดจากความจำเป็น ในการเพิ่มขนาดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุน ท่ามกลางการเติบโตของอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับต่ำ และความต้องการในการลงทุนที่สูง การแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีความรุนแรง จากการแข่งขันด้านราคาในการเสนอแพ็กเกจที่ให้ปริมาณข้อมูลแบบไม่จำกัด ซึ่งทำให้รายได้ต่อปริมาณการให้บริการด้านข้อมูลปรับตัวลดลง และทำให้อุตสาหกรรมเติบโตช้าลง

แผนการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว ซึ่งจะใช้การกู้ยืมเงินเป็นแหล่งเงินทุน จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิของ AIS เพิ่มขึ้นประมาณ 0.4 เท่า โดยที่ยังไม่ได้พิจารณารวมกำไรจากสินทรัพย์ที่เข้าซื้อ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4-1.5 เท่าหลังจากการเข้าซื้อกิจการแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 จาก 0.9 เท่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.8 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต ถึงแม้ว่าความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบกับอันดับเครดิตจะปรับตัวลดลง

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๑ 15 พฤศจิกายน 2567 ร่วมฉลองเทศกาลลอยกระทง กับ 5 โรงแรมหรูวิวริมทะเล ในเครือ เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์
๑๖:๑๘ Blendata เปิดตัว Blendata Cloud บน Microsoft Azure Marketplace ยกระดับโซลูชัน Big Data ไทยสู่ระดับโลก
๑๖:๓๔ แอปเรียกรถ Maxim เปิดประสบการณ์บริการเรียกรถสุดพิเศษวันฮาโลวีน เซอร์ไพรส์จากคนขับที่คุณไม่ควรพลาด
๑๖:๑๔ เกษตรหนองหญ้าปล้อง จัดเวทีประชาคมและลงตรวจสอบพื้นที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ประจำปี 2567/68
๑๖:๔๗ เสริมความแกร่ง! ธุรกิจการบิน ม.ศรีปทุม เปิดเวทีบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ ติดปีกให้นักศึกษาสู่ตลาดอุตสาหกรรมการบิน
๑๖:๕๗ Wayzim ปรับโฉมการจัดการคลังสินค้าด้วยระบบ ASRS Stacker Crane สำหรับประสิทธิภาพสูงสุด
๑๖:๔๑ การเคหะแห่งชาติ ระดมกูรูด้านภัยพิบัติ ตั้งรับ ปรับตัวกับภัยพิบัติ
๑๖:๑๑ ก.ล.ต. - ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประสานความร่วมมือ ยกระดับการทำหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุนร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
๑๖:๕๗ ไทย-ไต้หวันร่วมยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เสริมแกร่งกำลังคนทักษะสูง สู่ฮับการผลิต PCB แห่งอาเซียน
๑๕:๔๐ JAS คว้า 5 ดาว 2 ปีซ้อน จากการประเมิน CGR 2024