ดร. ณัฐพล รังสิตพล กล่าวในวาระเป็นประธานมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการอบรมกิจกรรม "ยกระดับนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ปั้น 30 แฟรนไชส์" ว่า "ขอแสดงความยินดี กับผู้เข้ารับวุฒิบัตรทุกท่านในวันนี้ ดีพร้อม (DIPROM) พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยการเปลี่ยนผ่านธุรกิจเกษตร จากสินค้าเกษตร การแปรรูป และการบริการ ไปสู่แฟรนไชส์เกษตรที่ได้มาตรฐานและเป็นระบบ ผ่านกระบวนการเรียนการสอนเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการบ่มเพาะสู่การทำแผนธุรกิจ จนสามารถจัดทำคู่มือแฟรนไชส์เกษตร อันจะนำไปสู่การสร้างความน่าเชื่อถือของธุรกิจและสร้างรายได้อย่างมั่นคงต่อไป"
หลักสูตรนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ผ่านการอบรมทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยเนื้อหาที่สอนจะเริ่มตั้งแต่การปรับพื้นฐานการทำธุรกิจแฟรนไซส์อย่างถูกต้อง สอนการเขียนแผนธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ การทำการตลาดออนไลน์และแบบออฟไลน์ การสร้างภาพจำออกแบบร้านค้า กลยุทธ์ในการเพิ่มยอดขาย การบริหารร้าน การคำนวณต้นทุน การทำการตลาด การขยายสาขา การสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถพัฒนาและต่อยอดได้ และหัวใจของหลักสูตร คือ "การเขียน Manual แฟรนไชส์" ที่เปรียบเสมือนคัมภีร์ธุรกิจนำทิศแฟรนไชส์ให้ก้าวขยายและเติบโตได้อย่างเป็นระบบ
ดร.วิชัย เจริญธรรมานนท์ วิทยากรผู้สอนหลักสูตร "ยกระดับนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ปั้น 30 แฟรนไชส์" ที่มีประสบการณ์คว่ำหวอดในวงการแฟรนไชส์ และ Chain Store มากว่า 30 ปี กล่าวถึงหลักสูตรนี้ว่า "ผมมองเห็นความสำคัญของภาคเกษตรของไทย จึงได้ออกแบบหลักสูตรนี้ขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 โดยการผนวกภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไว้ด้วยกัน หัวใจของหลักสูตรประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน คือ มีเกษตรเป็นพื้นฐาน สองคือแปรรูปเกษตร และพัฒนาไปสู่การทำโปรดักท์แฟรนไชส์ สิ่งที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ คือนวัตกรรมสินค้า การพัฒนาแปรรูปสินค้าให้โดดเด่นและแตกต่าง คอร์สนี้ได้คัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้ามาเรียน ถึงแม้แมนนวลหรือคัมภีร์ธุรกิจจะเขียนยาก แต่นักเรียนมีความตั้งใจและสามารถเขียนได้ ผมขอชื่นชม ในยุคนี้สินค้าแปลกใหม่เป็นสิ่งที่ทำให้เรารุกตลาดและได้กลุ่มลูกค้าใหม่ไม่สิ้นสุด ที่สำคัญคืออย่าหยุดคิดและพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต"
คุณพัสกร ถิรคุณทยุติกร เจ้าของแฟรนไชส์กล้วยปิ้งลิงเกาะ หนึ่งในผู้สำเร็จหลักสูตรเล่าบอกความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า "ผมทำแฟรนไชส์กล้วยปิ้งลิงเกาะมา 5 ปีแล้ว มีแฟรนไชส์รวมกว่า 200 สาขา แต่ยังพบปัญหาเรื่องการผลิต การควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ ขาดการจัดการแฟรนไชส์ให้ได้มาตรฐาน หลักสูตรนี้ช่วยเติมเต็มสิ่งที่เราขาด เพราะผมต้องการให้แฟรนไชส์กล้วยปิ้งลิงเกาะได้มาตรฐานจริง และสามารถอยู่ได้ยาวนาน ดังนั้นผมจึงต้องการสร้างแบรนด์มากกว่าการได้กำไร สิ่งที่ได้จากหลักสูตรมาปรับใช้กับธุรกิจคือการดึงข้อดีให้แบรนด์และสร้างคอนเซ็ปท์ให้ชัดเจน แมนนวลได้ประโยชน์มากจริง ๆ ถ้าทำแมนนวลแล้ววางไว้บนหิ้งไม่นำมาใช้จริงก็ไม่เกิดประโยชน์ อยากให้ผู้ประกอบการเปิดใจและพร้อมพัฒนาตนเอง คุณจะเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ที่ดีได้
ด้านคุณสุทธิพจน์ เชื้ออภัยวงศ์ วิสาหกิจชุมชนแปรรูปส้มโอที่จังหวัดชัยนาท Young Smart Farmer อีกหนึ่งผู้เรียนหลักสูตรที่มีดีกรีจบนอกแต่เห็นคุณค่าของส้มโอ เกษตรท้องถิ่น และอาชีพหลักของครอบครัว จึงฝ่าแรงต้านรุกทำเกษตรต่อยอดอย่างจริงจัง คุณสุทธพจน์เล่าว่า "ผมเห็นว่ามีส้มโอที่เสียหายไม่ได้คุณภาพจนต้องเผาทิ้งจำนวนมาก จึงมีแนวคิด Zero Waste คือแปรรูปเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด โดยไม่ให้เกิดการสูญเสีย ซึ่งปัจจุบันสามารถแปรรูปเป็นสินค้าได้ 9 ชนิด ได้แก่ น้ำส้มโอ เปลือกส้มโอ สเปรย์ส้มโอ โยเกิร์ตส้มโอ แยมส้มโอ ถ่านกันความชื้น ไวน์ส้มโอ ทรายแมวส้มโอ และอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์จะเปิดตัวเร็วๆนี้ สิ่งที่ได้จากหลักสูตรนำไปใช้ต่อยอดคือ เรื่องจัดการทีมงานเพื่อรองรับการขยายตัว รวมทั้งเรื่องการเงิน และที่สำคัญคือการบริการ เพราะเมื่อเราพัฒนาเป็นแฟรนไชส์ก็ต้องดูแลลูกค้าแฟรนไชส์ของเราให้สำเร็จไปพร้อมกับเราด้วย อยากบอกคนรุ่นใหม่ให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง สุดท้ายเมื่อคุณทำแล้วประสบความสำเร็จ จะเกิดความภาคภูมิใจ"
ที่มา: พีเอ็มจี คอร์ปอเรชั่น